ความหมาย และประเภทของการขับร้อง

       การขับร้อง  หมายถึง การเปล่งเสียงออกมาเป็นถ้อยคำ  เสียงสูง - ต่ำตามทำนองที่มีจังหวะกำหนดแน่นอน โดยคำว่า "ขับ"กับคำว่า "ร้อง"
      การขับ หมายถึง การเปล่งเสียงสูง - ต่ำ เป็นทำนองตามบทเพลง  หรือบทกวีนิพนธ์โดยเน้นคำเป็นสำคัญ ไม่มีการกำหนดความสั้น - ยาวของเสียง  หรือจังหวะที่แน่นอน  เช่น การแหล่ การขับกล่อม ขับเสภา  ขับลำนำ การแอ่ว เป็นต้น
    การร้อง  หมายถึง การเปล่งเสียงออกมาเป็นทำนองเพลงที่มีจังหวะแน่นอน
    การขับร้องเพลงไทย แบ่งเป็น ๔ ประเภท ดังนี้

    ๑. การขับร้องอิสระ
         การขับร้องอิสระ หมายถึง การขับร้องที่ไมีการบรรเลงดนตรีมาเกี่ยวข้อง  โดยที่ผู้ขับร้องสามารถกำหนดเสียงสูง - ต่ำ ได้ตามความพอใจ  ไม่ต้องคำนึงถึงระดับเสียงของเครื่องดนตรี แต่ต้องรักษาระดับเสียงให้คงที่ ไม่เพี้ยน อีกทั้งต้องระมัดระวังบทร้องให้ถูกต้องตามแบบฉบับ เช่น การฝึกหัดขับร้องในห้องเรียน เป็นต้น

   ๒. การขับร้องประกอบดนตรี
        การขับร้องประกอบดนตรี  หมายถึง การขับร้องประกอบการบรรเลงเครื่องดนตรีอาจจะบรรเลงรวมเป็นวงหรือไม่เป็นวงก็ได้  การขับร้องประเภทนี้ผู้ขับร้องต้องคำนึงถึงระดับเสียงรูปแบบแนวทำนอง และจังหวะให้กลมกลืนเหมาะสมกับการบรรเลงเครืองดนตรี ซึ่งมีหลายลักษณะ ได้แก่ คลอ   เคล้า  ลำลอง และร้องส่ง หรือร้องรับ
      * คลอ หมายถึง การขับร้องและบรรเลงเพลงเดียวกันไปพร้อมๆ กัน โดยผู้บรรเลงดนตรีต้องบรรเลงให้เสียง และทำนองใกล้เคียงกับเสียงของผู้ขับร้องให้มากที่สุด เช่น การขับร้องที่มีผู้บรรเลง ซอสามสายคลอเสียงของผู้ขับร้อง  เป็นต้น

     * เคล้า หมายถึง การขับร้อง และบรรเลงเพลงกันไปพร้อมๆกัน โดยที่ผู้ขับร้อง และ ผู้บรรเลงดนตรีต่างดำเนินทำนองตามทางของตนเองในระดับเสียงเดียวกัน

    * ลำลอง หมายถึง การขับร้องไปพร้อมๆกับการบรรเลง อาจจะเป็นเพลงเดียวกันหรือไม่ก็ได้โดยผู้ขับร้อง และผู้บรรเลงดนตรีต่างมีอิสระไม่ขึ้นแก่กัน เพียงแต่เป็นเพลงที่มีระดับเสียงเดียวกันเพื่อให้เกิดความไพเราะ และกลมกลืน

    * ร้องส่ง หรือ ร้องรับ หมายถึง การขับร้องสลับกับการบรรเลงเพลงเดียวกัน โดยปกติผู้ขับร้องจะร้องส่งให้ดนตรีรับทีละท่อน  เมื่อดนตรีบรรเลงจบท่อนก็จะทอดจังหวะส่งให้ผู้ขับร้องร้องท่อนหรือเพลงต่อไป การร้องส่ง หรือ ร้องรับ ผู้ขับร้องต้องขับร้องให้ระดับเสียงตรงกับเสียงของเครื่องดนตรี

  ๓. การขับร้องประกอบการแสดง
       การขับร้องประกอบการแสดง หมายถึง การขับร้องประกอบกิริยาอาการของนักแสดงหรือบรรยายเรื่องราว เพื่อดำเนินเนื้อเรื่องของการแสดงนั้นๆ เช่น การแสดงโขน ละคร หนังใหญ่ หุ่นกระบอก เป็นต้น  การขับร้องประกอบการแสดง นอกจากผู้ขับร้องต้องคำนึงถึงระดับเสียงให้ตรงกับเครื่องดนตรีแล้ว ยังต้องใส่อารมณ์ตามบทร้อง เพื่อให้ผู้ชมเกิดอารมณ์คล้อยตามด้วย

   ๔. การขับร้องหมู่
        การขับร้องหมู่ หมายถึง การขับร้องพร้อมกันมากกว่า ๑ คนขึ้นไป แบ่งเป็น ๒ ลักษณะ คือการขับร้องหมู่ทำนองเดียวกัน และการขับร้องประสานเสียง
    * การขับร้องหมู่ทำนองเดียวกัน  หมายถึง การที่ผู้ขับร้องทุกคนขับร้องทั้เนื้อร้อง ทำนอง จังหวะ และระดับเสียงเดียวกัน พร้อมกัน การขับร้องลักษณะนี้ผู้ขับร้องทุกคนต้องคำนึงถึง เนื้อร้อง ทำนอง จังหวะ และระดับเสียง ให้ออกมาเป็นหนึ่งเดียว

   * การขับร้องประสานเสียง หมายถึง การขับร้องที่แบ่งผู้ขับร้องเป็นกลุ่มๆ ขับร้องเพลงเดียวกัน แต่ทำนอง หรือระดับเสียงอาจต่างกัน แล้วแต่แนวประสานเสียงที่กำหนด

     โดยปกติการขับร้องเพลงไทย ถ้าเป็นเพลงไทยเดิมนิยมบรรเลงเครื่องดนตรีทั้งวงสลับรับ - ส่งกับการขับร้อง  ยกเว้นการขับร้องประกอบการเสียงที่การบรรเลง และขับร้องจะดำเนินไปพร้อมๆกัน

     ส่วนการบรรเลง และขับร้องเพลงพื้นบ้านส่วนใหญ่ เป็นการขับร้องโดยมีเครื่องดนตรีประกอบจังหวะร่วมทำจังหวะ  เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน  เช่น ลำตัด พ่อเพลง  แม่เพลง  จะด้นบทร้องไปพร้อมกับผู้ตีเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ คือ รำมะนา  ฉิ่ง  และร้องรับเป็นลูกคู่  เป็นต้น

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บุคคลสำคัญในวงการนาฏศิลป์

เครื่องหมาย และสัญลักษณ์ในดนตรีสากล

วิวัฒนาการของดนตรีไทยในแต่ละยุคสมัย (สมัยรัตนโกสินธ์)