คุณค่าและประโยชน์ของนาฏศิลป์
นาฏศิลป์ สะท้อนให้เห็นสภาพบ้านเมืองที่มีความงดงาม ประณีต เพียบพร้อมไปด้วยขนบธรรมเนียม ประเพณี ตลอดจนวัฒนธรรมที่ยึดถือปฏิบัติกันมาแต่ละยุคสมัย นาฏศิลป์ไทยให้ทั้งความสนึกสนาน เบิกบานใจ ให้ความรู้ทั้งในมิติตของประวัติศาสตร์และสุนทรียศาสตร์
นอกจากนี้ นาฏศิลป์ไทยยังเป็นศาสตร์ที่แสดงให้เห็นภูมิปัญญาของปรมาจารย์ทางด้านนาฏศิลป์และดนตรีไทย นับว่าเป็นศิลปะคู่บ้านคู่เมือง เป็นเครื่องหมายแสดงความเป็นชาติที่มีมรดกทางวัฒนธรรม จารีตประเพณีสืบต่อๆ กันมาจนปัจจุบัน ให้เยาวชนรุ่นหลังได้ศึกษา นับว่าเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง
๑. คุณค่านาฏศิลป์ไทย
นาฏศิลป์ไทยมีคุณค่าในฐานะทื่เป็นที่ร่วมของศิลปะหลายแขนง ปลูกฝังจริยธรรมและเป็นเอกลักษณ์ของชาติที่แสดงถึงความเป็นอารยประเทศ อาทิ ศิลปะแขนงวิจิตรศิลป์หรือ ประณีตศิลป์ เป็นศิลปะแห่งความงามที่มุ่งหมายเพื่อสนองความต้องการทางสติปัญญา อารมณ์ ก่อให้เกิดความสะเทือนใจ หรือมุ่งแสดงสุนทรียะโดยตรง
ศิลปะแขนงวิจิตรศิลป์ มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับนาฏศิลป์มากที่สุด เป็นศิลปะที่สร้างจากสติปัญญาและจิตใจของศิลปิน มีความศักดิ์สิทธิ์ในทางจิตใจ ลบเลือนไปจากความทรงจำของ ผู้พบเห็นได้ยาก นับว่าเป็นศิลปะที่เป็นอมตะ ลักษณะงานวิจิตรศิลป์ที่ปรากฏอยู่ในงานนาฏศิลป์มี ดังต่อไปนี้
๑.๑ ประติมากรรม คือ ศิลปะในการปั้น แกะสลัก รุปหล่อต่างๆศิลปะแขนงนี้ปรากฏในงานนาฏศิลป์ในรุปแบบของการสร้างอุปกรณ์ ในการแสดง ฉาก อุปกรณ์ประกอบฉาก เช่น พระพุทธรูป เทวรูป เป็นต้น การสร้างเครื่องแต่ง กาย เช่น หัวโขน มงกุฎ ชฎา ราชรถ เป็นต้น
![]() |
๑.๒ วรรณกรรม ที่ปรากฏในงานนาศิลป์ ได้แก่บทประพันธ์ที่งที่เป็นร้อยแก้วและร้องกรอง ที่เป็นบทละคร บทเพลง เป็นการ ใช้ภาษาเป็นสื่อเพื่อให้ผู้ชมเกิดจินตนาการ มีอารมณ์คล้อย ตามบทประพันธ์นั้นๆ
๑.๓ สถาปัตยกรรม เป็นศิลปะในการออกแบบ สร้างฉากสร้างบ้านที่อยู่ในฉากปราสาทราชวัง อาคารสถานที่ต่างๆ โบสถ์ วิหาร เป็นต้น
๑.๔ จิตรกรรม คือ การเขียนภาพ ในการแสดงนาฏศิลป์ต้องมีฉาก การแต่งหน้า เครื่องแต่งกาย เป็นองค์ประกอบสำคัญ ดังนั้น ศิลปะสาขาจิตรกรรมจึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผลงานการแสดงทางด้านนาฏศิลป์ เพราะเกี่ยวกับการวาดระบายสีฉากให้มีความวิจิตรงดงามการเขียนลวดลายลงบนเครื่องแต่งกาย และการแต่งหน้า เป็นต้น
๑.๕ ดุริยางคศิลป์ คือ ศิลปะทางดนตรี ขับร้อง นับว่าเป็นหัวใจสำคัญสำหรับนาฏศิลป์ไทย เพราะการแสดงลีลาท่ารำต้องมีดนตรีประกอบการแสดง นาฏศิลป์ไทยรวมศิลปะไว้สามประการ คือ การบรรเลงดนตรี การขับร้อง และการฟ้อนรำ
นาฏศิลป์มีคุณค่าในการปลูกฝังจริยธรรม ผู้ที่ศึกษาวิชานาฏศิลป์จะได้รับการปลูกฝังค่านิยมอันเป็นจารีตประเพณีของศิลปิน ตัวอย่างเช่น
ปลูกฝังจริยธรรมในเรื่องความกตัญญูู ศิษย์นาฏศิลป์ทุกคนจะได้รับการปลูกฝังให้ความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ มีความเชื่อศรัทธาต่อเทวดา ครู สิ่งศักดิ์หรือความเชื่อทางไสยศาสตร์ ก่อนเข้าฝึกหัดจะต้องทำพิธีไหว้ครู คำนับครู เพื่อมอบตัวเป็นศิษย์ ก่อนแสดงก็ต้องผ่านพิธีครอบครู จึงจะสามารถออกโรงแสดงได้
ปรมาจารย์ทางนาฏศิลป์ได้กำหนดแบบแผนไว้เป็นขนบประเพณีจารีตว่า ถ้าเห็นว่าศิษย์คนใดมีใจบริสุทธิ์ มีความรู้ความสามารถในนาฏยศาสตร์ ครูจะยกตำราให้เป็นตัวแทนทำพิธีไหว้ครูสืบต่อไป แต่ถ้าศิษย์ผู้ใดมิได้รับมอบให้เป็นตัวแทนของท่าน แม้จะได้ตำราไปก็เป็นเพียงเก็บไว้บูชา ไม่สามารถจะทำพิธีไหว้ครูและครอบครูได้
ปลูกฝังจริยธรรมในเรื่องความอ่อนน้อมถ่อมตน ศิลปินที่มีฝีมือจะไม่โอ้อวดว่ามีความสามารถเหนือคนอื่น จะต้องคารวะต่อผู้อาวุโสก่อนออกโรงแสดง ต้องไหว้ครูผู้ฝึก ผู้กำกับ และเมื่อเลิกแสดงต้องขอขมาผู้อาวุโส
ปลูกฝังจริยธรรมในเรื่องความมีระเบียบเรียบร้อย ซึ่งความมีระเบียบเรียบร้อยสามารถแสดงออกด้วยพฤติกรรมในการนั่ง การยืน การเดิน การแสดงกิริยามารยาท เช่น ไม่วิ่งเล่นบนเวที เมื่อแต่งตัวละครเสร็จจะต้องมีกิริยามารยาทเรียบร้อยในการนั่ง การเดิน ห้ามนอน ขณะแต่งเครื่องละคร เป็นต้น
ด้วยเหตุที่โครงสร้างของวิชานาฏศิลป์ เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายที่งดงาม ยึดถือความงามของอากัปกิริยาที่สื่อความหมายไปยังผู้ชม สะท้อนให้เห็นแบบแผนของวัฒนธรรมของคนในชาติที่มีกิริยามารยาทเรียบร้อย มีสัมมาคารวะเป็นเสน่ห์แก่ผู้พบเห็น
๒. ประโยชน์ของนาฏศิลป์
นาฏศิลป์เป็นส่วนสำคัญในการประกอบพิธีกรรมทั้งพิธีหลวงและพิธีราษฎร์ นอกเหนือไปจากการให้ความบันเทิง และยังมีประโยชน์อีกหลายๆด้าน ดังนี้
๒.๑ สถาบันพระมหากษัตริย์จำเป็นต้องมีพระราชพิธีต่างๆ ตามพระราชประเพณี จึงต้องมีนาฏศิลป์ โขน ละคร ไว้ร่วมแสดงประกอบพระราชพิธี และเพื่อเป็นการประดับพระเกียรติยศ
๒.๒ นาฏศิลป์ไทยผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทยในอดีตจนถึงปัจจุบันตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น ฉลองวันเกิด งานบวช งานแต่งงาน และงานศพ ล้วนแต่มีนาฏศิลป์ ดนตรี แสดงเพื่อความเป็นสิริมงคลเกือบทั้งสิ้น นอกจากนี้ พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำมาหากิน การบูชาบวงสรวง ขอให้พืชผลอุดมสมบูรณ์ ก็มีการแสดงนาฏศิลป์ ดนตรีในพิธีขอฝนด้วย
พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับชุมชนหรือสังคม เป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนาเทวดา ครู ผี เป็นคติความเชื่อที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นำมาซึ่งความสำเร็จ ความสุข ความปลอดภัย ขจัดปักเป่าภัยพิบัติต่างๆ ดังนั้ร จึงนับว่านาฏศิลป์มีคุณประโยชน์เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของบ้านเมืองและเป็นส่วนหนึ่งของคนไทย นับแต่เกิดจนตาย
๒.๓ ประโยชน์โดยตรงสำหรับผู้ศึกษาวิชานาฏศิลป์ คือ สอนให้เป็นผู้รู้จักตตนเอง เพราะเป็นวิชาทักษะที่ต้องอาศัยความมีมานะ อดทน ฝึกฝนเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ผู้เรียนจะค้นพบศักยภาพของตนเอง และเข้าใจเนื้อหาของวิชาอย่างถ่องแท้ มีความเคารพ เชื่อฟังครูอย่างมีเหตุมีผล สาระของนาฏศิลป์อย่างหนึ่งคือ จะให้เรียนรู้เกี่ยวกับความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยมของสังคมในอดีต ซึ่งนักเรียนจะต้องรู้จักคิด วิเคราะห์ มีเหตุผลว่า สมควรเชื่อหรือไม่ จะได้มีความรู้ที่ถูกต้อง สามารถอธิบายเหตุผลได้ และทำนายหรือคาดเดาเหตุการณ์ในอนาคตได้ มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และสามารถนำความรู้และประโยชน์ไปประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิตได้อย่างสมบูรณ์
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น