ศ31102 ลักษณะเด่นของดนตรีไทย

               ดนตรีไทย   เป็นดนตรีที่มีพัฒนาการมาเป็นช่วงระยะเวลายาวนานจนดำรงเป็นมาตรฐานร่วมกันของงานด้านศิลปวัฒนธรรม  และได้รับการยอมรับว่าเป็นตัวแทนของความเป็นดนตรีที่สามารถสะท้อนความเป็นชาติไทยอย่างมีอัตลักษณ์ การบรรเลงดนตรีไทย ซึ่งมีบทบาทต่อสังคมและวัฒนธรรมไทยหลายลักษณะ เช่น การบรรเลงเพื่อประกอบพิธีกรรมต่างๆเป็นเสริมสร้างงานให้บังเกิดความสมบูรณ์
               1. เครื่องดนตรี
                ประเทศไทยมีพันธุ์ไม้ชนิดดีหลายพันธุ์ที่เอื้อต่อการนำมาประดิษฐ์เป็นเครื่องดนตรี เช่น ไม้ชิงชัน ไม้พะยูง ไม้มะริด ไม้สัก ไม้ไผ่ หวาย ไม้ขนุน มะพร้าว ผลน้ำเต้า ฯลฯ ไม้ดังกล่าวนี้ นำมาประดิษฐ์เป็น ปี่  ขลุ่ย อังกะลุง ผืนระนาด รางระนาด ร้านฆ้อง  กระบอกซอ กะโหลกซอ  คันซอ แคน พิณ หุ่นกลอง กรับ และเครื่องดนตรีอื่นๆ ได้อีกหลายอย่าง
              นอกจากไม้ชนิดต่างๆแล้ว วัสดุที่ได้จากสัตว์ก็มีความเหมาะสมสำหรับการนำมาเป็นส่วนประกอบของเครื่องดนตรีด้วย เช่น หนังงูเหลือมสำหรับหน้าซอ  หนังแพะ หนังวัว สำหรับหน้ากลอง  งาช้าง กระดูกสัตว์สำหรับทำไม้ดีดจะเข้ เป็นต้น  หรือบางชนิดก็นำมาประดับและตกแต่งเครื่องดนตรีให้สวยงาม เช่น เปลือกหอยมุกสำหรับสร้างสรรค์เป็นลวดลายบนรางระนาด กระบอกซอ  ตัวกลอง เสียงของจะเข้ การใช้งาช้างเพื่อทำคันซอ เป็นต้น
             ซึ่งการใช้วัสดุจากธรรมชาติในการสร้างและประดิษฐืเครื่องดนตรี ก่อให้เกิดลักษณะเด่นของเครื่องดนตรีไทย 4 ส่วน ได้แก่
            1.1 ใกล้ชิดธรรมชาติ  ดนตรีไทยช่วยสะท้อนภาพความเป็นสังคมใกล้ชิดธรรมชาติ ศิลปินไทยจึงใช้ภูมิปัญญาในการนำวัสดุที่มีอยู่ในธรรมชาติใกล้ตัวมาสร้างเป็นเครื่องดนตรี
            1.2 ความงดงาม  ความอ่อนช้อยงดงามของรูปทรงโครงสร้างเครื่องดนตรี  เป็นความสอดคล้องลงตัวทั้งรูปทรงที่สวยงาม เช่น รูปทรงของซอด้วง  ซออู้ ที่ได้สัดส่วน ระนาดเอกที่มีรูปทรงโครงสร้างของรางระนาดกับผืนระนาดที่คงความสมดุลระหว่างผืนระนาดกับขอบราง
            1.3  ลายไทย  ความงามของลวดลายไทยที่ปรากฏบนเครื่องดนตรี แสดงให้เห็นถึงความวิจิตรบรรจงของลายไทยต่างๆ ดังจะดูได้จากการแกะสลักบนแผ่นไม้ที่ประกอบเป็นรางระนาด ร้านฆ้องมอญ การแกะสลักลวดลายที่กะโหลกซออู้ ผนังด้านนอกของโทน - รำมะนา กล่องเสียงของขิม เป็นต้น
            1.4 ความไพเราะ  ระบบเสียงที่เกิดจากการใช้วัสดุธรรมชาติในการประดิษฐ์เครื่องดนตรีให้ความไพเราะของระบบคุณภาพเสียง (acoustic) ที่ยังคงความเป็นเป็นเสียงธรรมชาติอย่างมากระบบเสียงเช่นนี้ เมื่อนักดนตรีไทยบรรเลงออกมาจึงเท่ากับเป็นการถ่ายทอดความงามของเสียงที่มีความไพเราะ  ให้อารมณ์ และความรู้สึกที่เกิดขึ้นพร้อมกับคุณค่า อันเป็นคุณลักษณะเฉพาะของความเป็นดนตรีไทยที่มีความสมบูร์พร้อมในตัวเองอย่างแท้จริง

       
            2. วงดนตรี
             วงดนตรีไทยมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง  วงดนตรีเกิดขึ้นจากการประสมเครื่องดนตรีแต่ละชนิดเข้าเป็นวง ลักษณะเด่นคือ ภูมิปัญญาของนักดนตรีไทยแต่ครั้งโบราณที่พิจารณาความเหมาะสมของคุณลักษณะเครื่องดนตรีแล้วนำมาประสมวง เมื่อบรรเลงแล้วทำให้เกิดความสอดคล้องกัน  ตัวอย่างเช่น
            วงมโหรี   วงดนตรีประเภทนี้มีเครื่องดนตรีที่ประกอบเข้ากันของเครื่องดนตรีทั้งดีด สี ตี และเป่า  ลักษณะเด่นของวงมโหรี คือ การปรับขนาดและระบบเสียงของเครื่องดนตรีที่นำมาจากวงปี่พาทย์ให้มีขนาดลดลงประมาณสามในสี่ส่วน ปรับเครื่องดนตรีที่มีระดับเสียงไม่สอดคล้องกันออก คือ ปี่ใน ตะโพน และกลองทัด  โดยนำขลุยอู้  ขลุ่ยเพียงออ  ขลุ่ยหลีบ (ตามขนาดของวง) และ โทน- รำมะนา เข้ามาใช้บรรเลงแทน

            วงปี่พาทย์พิธีกรรม  ประกอบด้วยเครื่องดนตรีที่มีเสียงดัง แข็งกร้าว เพื่อสร้างความหนักแน่น  จึงมีเสียงดังของปี่  เสียงไม้ระนาดที่ใช้ไม้แข็งตีลงบนผืนระนาด  ฆ้องวงใหญ่ที่ตีให้มีเสียงกังวาน ตะโพน และกลองทัดที่ตีกำกับหน้าทับให้มีเสียงดังครอบคลุมเสียงที่เกิดขึ้นจากการบรรเลงของเครื่องดนตรีในวง

           วงเครื่องสายไทย   เป็นวงดนตรีที่ต้องการความไพเราะของเสียงที่เกิดจากสาย ได้แก่ จะเข้  ซอด้วง ซออู้  และเครื่องดนตรีซึ่งมีเสียงเบา เช่น ขลุ่ยเพียงออ โทน - รำมะนา เมื่อบรรเลงรวมวงด้วยกัน จึงได้ระดับเสียงเพลงที่แตกต่างไปจากวงปี่พาทย์

            3. ภาษาและเนื้อร้องเพลงไทย
            เพลงไทยนอกจากทำนองดนตรีที่บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีแล้ว  การขับร้องก็มีความสำคัญ  ซึ่งจะมีวิธีการขับร้องประกอบเข้ากับทำนองเพลงหลายลักษณะ เช่น การร้องคลอทำนองดนตรี การร้องเนื้อเต็ม  และการร้องที่มุ่งเน้นไปที่สาระของการเอื้อนที่สอดรับกับถ้อยคำของเนื้อร้อง
            การขับร้องเพลงไทย ใช้เนื้อร้องที่มีรูปแบบคำประพันธ์ได้ทั้ง โคลง ฉันท์  กาพย์ ร่าย และกลอน คำประพันธ์ประเภท กลอน ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะมีการแบ่งวรรคสดับ  รับ  รอง ส่ง โดยในการขับร้องเพลงไทยจะแบ่งและเรียกว่า คำ ในคำหนึ่งมี 2 วรรคคำกลอน ดังนั้น ในหนึ่งบทกลอนจึงมี 2 คำ บทกลอนมีทั้งกลอนสุาภพหรือกลอนแปดและกลอนบทละคร
            กลอนบทละคร มีคำขึ้นต้นว่า เมื่อนั้น...... บัดนั้น.....  บัดนี้...  มาจะกล่าวบทไป...........  หรืออาจขึ้นต้นด้วยคำเพียง 2 คำ เช่น คำว่า ฟังคำ.....   ยามเช้า....... หรืออื่นๆก็ได้ เมื่อหมดคำของบทละครแล้วจะต่อด้วยชื่อเพลงหน้าพาทย์หรือเพลงที่กำหนดให้ใช้ เพื่อให้นักร้องนักดนตรีได้ทราบว่าบทหรือเนื้อร้องนั้นๆ ใช้เพลงอะไรบรรเลงและขับร้อง ซึ่งถือเป็นการวางโครงสร้างทำนองเพลง  อารมณ์เพลง  ให้ดำเนินไปตามบทร้องที่ต้องการ

            เนื้อร้องของเพลงไทยนอกเหนือจากกลอนบทละครแล้ว   ในการขับร้องเพลงที่เรียกว่าการร้องส่งนั้น  นิยมนำบทกลอนมาจากวรรณคดีที่ศิลปินต่างๆ  นิยมกันว่ามีความไพเราะ มีความหมายของเนื้อหาที่ถ่ายทอดเข้ากับอารมณ์เพลงมาใช้ขับร้อง เรื่องที่นิยมกันมาก เช่น ขุนช้างขุนแผน   อิเหนา เป็นต้น รวมทั้งอาจมีการประพันธ์เนื้อร้องขึ้นมาใหม่ตามความประสงค์ของนักแต่งเพลง หรือแต่งให้ดำเนินเนื้อหาไปตามสถานการณ์ก็มีตัวอย่างเช่น บทร้องเพลงทยอยเขมรเถา

             4. สำเนียง และสำเนียงภาษา
              สำเนียง ในหลักวิชาการดนตรีไทย หมายถึง เสียงที่ดำเนินเป็นทำนองและประกอบขึ้นเป็นบทเพลง  โดยทำนองนั้นมีกลุ่มของระดับเสียงสูงต่ำสลับสอดกันไปตามจังหวะสั้น  ยาว ผูกเรียงร้อยเป็นทำนอง  บ่งบอกอารมณ์ความรู้สึกไปตามจินตนาการของนักประพันธ์เพลงเป็นไปตามแนวคิดและหลักการของสำเนียงดนตรีไทย
               สำเนียงเพลงหนึ่งๆ  จะมีลักษณะเฉพาะซึ่งเมื่อฟังแล้วสามารถบอกได้ว่า  เป็นทางเพลงของสำนักดนตรีใด  เป็นทางของศิลปินใด  หรือเป็นสำเนียงเป็นที่ภาษาใด
               สำเนียงภาษา หมายถึง กลอนเพลงที่บ่งบอกถึงคุณลักษณะในรูปของกระแสเสียงที่สื่อให้รู้ว่าเป็นเสียงเพลงของกลุ่มชาติพันธุ์ใด  เช่นเดียวกับภาษาพูดที่เปลางออกมาเป็นพยางค์เป็นถ้อยคำ แม้ว่าไม่ทราบความหมาย  แต่น้ำเสียงที่ปรุงแต่งออกมาก็บอกให้ทราบได้ว่าเป็นภาษาจีน  พม่า หรือแขก สำหรับสำเนียงภาษาในดนตรีไทย  ก็มีลักษณะในการแสดงออกทางกลุ่มเสียงเพื่อให้ทราบทำนองหรือสำเนียงนั้นเป็นสำเนียงภาษาใด หรือเป็นของชาติใด เป็นต้น
              ศิลปินดนตรีไทย  ใช้ภูมิปัญญาและประสบการณ์  สังเกตแนวน้ำเสียงของแต่ละชนชาติแล้วเรียงร้อยกลุ่มทำนองให้ออกไปตามแนวนั้น  เกิดเป็นเพลงสำเนียงภาษาต่างๆขึ้น
              ตัวอย่างชื่อเพลงสำเนียงภาษาต่างๆ  ที่ไม่ระบุชื่อกลุ่มชาติพันธุ์นำหน้า  บางชื่อนักดนตรีอาจไม่ทราบพื้นฐานว่าเป็นเพลงสำเนียงใด  แต่บางชื่อเพลงสื่อให้เห็นว่าเป็นเพลงที่มาจากสำเนียงใด เช่น เพลงกรองดอกไม้ (สำเนียงภาษจีน)    กล่อมสุเหร่า (แขก)   กองแว (พม่า)   กินรีเล่นน้ำ (เขมร)    กัมพุช (เขมร)   กาหรัดรายา (ชวา)   กำสรวลสุรางค์ (จีน)  กุหนุงชาริ  (แขก)     นางคราญ (มอญ)  สุดสงวน (มอญ)   กัปตันรันทด (แขก)
              ตัวอย่างชื่อเพลงสำเนียงต่างๆ ที่ระบุชื่อกลุ่มชนชาติพันธุ์นำหน้า  เพื่อบอกให้ทราบถึงสำเนียงภาษานั้น  ซึ่งมีทั้งที่ใช้ชื่อกลุ่มชนชาตินำหน้าและต่อท้ายชื่อเพลง เช่น เพลงกราว  แขกเงาะ (สำเนียงภาษาแขก)   ขอมทอง (เขมร)  เขมรกล่มลูก (เขมร)   แขกต่อยหม้อ (แขก)  จีนหลวง (จีน)  ญวนทอดแห (ญวน)  ลาวครวญ (ลาว)  ลาวคำหอม (ลาว)  เป็นต้น


                5. องค์ประกอบของบทเพลง
                 บทเพลงไทยแต่ละบท  จะมีองค์ประกอบต่างๆ ที่ผสานเข้าด้วยกัน  ในการพิจารณาองค์ประกอบจะไม่นับรวมเครื่องดนตรี  วงดนตรี  ศิลปินดนตรี  วิธีบรรเลง  และเทคนิคการบรรเลงซึ่งองค์ประกอบของบทเพลงแต่ละเพลง  สามารถพิจารณาได้ ดังนี้
                 5.1 ระดับเสียง   ระดับเสียงของดนตรีไทยมี 7 เสียง  โดยทางทฤษฎีแล้วแต่ละช่วงเสียงจะห่างเท่ากัน  เรียกว่า 7 เสียงเต็ม  แต่ในความเป็นจริงเมื่อบรรเลงเครื่องดนตรีบางประเภท  เช่น เครื่องเป่า  เครื่องสี ก็สามารถสร้างระดับเสียงให้เหลื่อมกันเพื่อความงามและความไพเราะได้ โดยเฉพาะเมื่อต้องบรรเลงคลอกับเสียงขับร้อง
                 ระดับเสียงทั้ง 7 ในดนตรีไทย เรียกว่า  ทาง  เรียงจากระดับเสียงต่ำไปหาเสียงสูงซึ่งหากเทียบกับระดับเสียงเครื่องดนตรีสากลโดยอนุโลม จะเป็นดังนี้

ระดับเสียง
ระดับเสียงดนตรีไทย
ระดับเสียงดนตรีสากล
ทางเพียงออล่าง (ทางในลด)
ฟา (F)
ทางใน
ซอล (G)
ทางกลาง
ลา (A)
ทางเพียงออบน (ทางนอกต่ำ)
ที (Bb)
ทางนอก (ทางกรวด)
โด (C)
ทางกลางแหบ
เร (D)
ทางชวา
มี (E)
               
                      5.2 ทำนองเพลงหลัก  ทำนองเพลงประกอบด้วยลีลาของกลุ่มทำนองซึ่งเคลื่อนที่เรียงร้อยลักษณะเดียวกับสำเนียงเพลง  เนื้อทำนองหลักหรือเนื้อเพลง  ทางดนตรีไทยเรียกว่า  ลูกฆ้อง หรือ  เนื้อฆ้อง  ลักษณะทำนองหลักที่เป็นลูกฆ้องหรือเนื้อฆ้องนี้   จะเป็นทำนองเรียบๆไม่ตกแต่งพลิกแพลงไปจากทำนองที่นักประพันธ์เพลงได้เรียงร้อยทำนองไว้
                     ในวงปี่พาทย์ประเภทต่างๆ และวงมโหรีจะมีฆ้องวงใหญ่ทำหน้าที่ดำเนินเนื้อทำนองหลัก ในขณะที่เครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ ในวงทำหน้าที่แปรทำนองให้เป็นทางของตน  ส่วนในวงเครื่องสายไทย แม้ไม่มีฆ้องวงใหญ่ประสมอยู่ในวง  แต่นักดนตรีที่บรรเลงเครื่องดนตรีต่างๆ คือ จะเข้ ซอด้วง  ซออู้ และขลุ่ยเพียงออ  ต่างก็มีแนวทำนองหลักในการดำเนินทำนองควบคู่ไปกับการแปรทำนองไปตามทางของเครื่องดนตรีที่ร่วมบรรเลง
                       5.3 ทำนองร้อง เป็นทำนองที่เกิดขึ้นจากการประพันธ์เพื่อนำมาใช้ในการบรรเลงและขับร้อง  แนวการร้องนิยมขับร้องตามแนวทำนองเครื่องบรรเลง  โดยมีเนื้อเพลงที่เป็นคำร้อยกรองซึ่งนำมาจากวรรณคดี หรือประพันธ์เนื้อร้องขึ้นใหม่ให้เข้ากับแนวเพลง หรือเป็นไปตามจินตนาการของนักประพันธ์เพลง  เพลงไทยนิยมการเอื้อน  โดยวิธีเปล่งเสียงตามทำนองดนตรีระหว่างคำร้อง  เสียงที่เปล่งนั้นมักออกจากลำคอเป็นเสียง .....เออ .......เอ่อ ....ฮึ........  อือ.......  เอย........
                      5.4 จังหวะ  จังหวะในดนตรีไทย นิยมแบ่งออกเป็นจังหวะหน้าทับที่ใช้เครื่องดนตรีประเภทเครื่องหนังตีกำกับจังหวะ เช่น ตะโพน  กลองทัด  กลองแขก กลองสองหน้า   กลองมลายู  เป็นต้น โดยมีชื่อเรียกหน้าทับกำกับไว้ เช่น หน้าทับปรบไก่  หน้าทับสองไม้  หน้าทับพิเศษ เป็นต้น การใช้หน้าทับกำกับจังหวะในบทเพลงไทย  ขึ้นอยู่กับโครงสร้างของบทเพลง ทั้งทำนองดนตรี  ทำนองร้อง  การบรรเลง การขับร้อง  ต้องยึดถือจังหวะหน้าทับเป็นหลัก
                     5.5 อารมณ์เพลง  นับเป็นองค์ประกอบสำคัญของบทเพลงไทย  เพลงทุกเพลงที่สังคีตกวีได้ประพันธ์ไว้  ย่อมมีวัตถุประสงค์สื่อทำนองให้ปรากฏอารมณ์  เช่น เพลงประเภทแสดงความศักดิ์สิทธิ์ เชิงเคารพบูชา  ทำนองเพลงย่อมมีแนวทำนองขรึม  หนักแน่น มักปรากฏในเพลงพิธีกรรมประเภทหน้าพาทย์ เช่น เพลงสาธุการ  เพลงสาธุการกลอง เป็นต้น  เพลงที่แสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ เช่น เพลงรัวสามลา  รัวคุกพาทย์ เป็นต้น เพลงที่ให้ความรู้สึกไปในทางอำนวยพร การมีฤกษ์งามยามดี เช่น มหาฤกษ์  มหาชัย  มหากาล เป็นต้น  เพลงที่แสดงความรู้สึกโศกเศร้า เช่น เพลงลาวครวญ  เพลงธรณีกรรแสง  พม่าโศก  เป็นต้น  เพลงที่ให้อารมณ์และจิตใจสุขสบายและอิงธรรมชาติ เช่น เพลงนกเขามะราปี  เขมรไทรโยค ชมดง ชมตลาด เป็นต้น

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บุคคลสำคัญในวงการนาฏศิลป์

เครื่องหมาย และสัญลักษณ์ในดนตรีสากล

วิวัฒนาการของดนตรีไทยในแต่ละยุคสมัย (สมัยรัตนโกสินธ์)