ศ31102 หน่วยการเรียนรู้ที่ 3 วงดนตรีไทย

              1. ประเภทของวงดนตรีไทย
                  ดนตรีไทย ในปัจจุบันได้จัดรูปแบบการบรรเลง มีความเป็นระเบียบแบบแผน  มีมาตรฐานถูกต้องตามหลักการประสมวง  มีการพัฒนารูปแบบการบรรเลงเป็นระยะ ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
                 1.1  วงปี่พาทย์   เป็นชื่อเรียกรวมของวงดนตรีไทยประเภทหนึ่ง ซึ่งถ้าพิจารณาลงไปในรายละเอียด  วงปี่พาทย์แบ่งออกเป็น 6 ชนิด ดังนี้
                  1) วงปี่พาทย์ไม้แข็ง  เป็นวงดนตรีที่ประกอบด้วย  เครื่องเป่าและเครื่องตีเป็นหลัก เดิมเรียกว่า "วงพิณพาทย์" ภายหลังสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงพิจารณาว่าในการประสมวงของวงดนตรีประเภทนี้ไม่ปรากฏว่ามีพิณประกอบอยู่ในวง แต่มี ปี่ใน ประสามวงและทำหน้าที่เป็นประธานของวง ดังนั้น จึงทรงให้ใช้ชื่อใหม่ว่า "วงปี่พาทย์"แทน
                   นอกจากนี้ เมื่อมีการประสมวงปี่พาทย์ไม้นวมขึ้น วงปี่พาทย์แต่เดิมจึงต้องมีการเรียกให้แตกต่างกันตามลักษณะการบรรเลงว่า  "วงปี่พาทย์ไม้แข็ง"  ดังปรากฏหลักฐานจากกรมศิลปากรที่ใช้คำว่า "วงปี่พาทย์ไม้แข็ง" ในสูจิบัตรการบรรเลงดนตรีต่างๆ และนิยมใช้กันอย่างกว้างจนถึงปัจจุบัน
                    วงปี่พาทย์ไม้แข็ง เป็นวงปี่พาทย์พิธีกรรม ใช้บรรเลงในงานพระราชพิธีและพิธีกรรมของประชาชนมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ตลอดจนใช้บรรเลงประกอบการแสดง เช่น โขน  หนังใหญ่ ละครนตอก ละครใน หุ่นกระบอก หุ่นละครเล็ก เป็นต้น และบรรเลงเพื่อการฟังในลักษณะต่างๆ ในด้านการประสมวงได้จัดแบ่งออกเป็น 3 ขนาด คือ วงปี่พาทย์เครื่องห้า  วงปี่พาทย์เครื่องคู่ และวงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ ดังนี้
                          (1) วงปี่พาทย์เครื่องห้า ประกอบด้วย ปี่ใน ระนาดเอก  ฆ้องวงใหญ่ ตะโพน กลองทัด
                          (2)  วงปี่พาทย์เครื่องคู่ ประกอบด้วย ปี่ใน ปี่นอก  ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ตะโพน กลองทัด ฉิ่ง ฉาบเล็ก ฉาบใหญ่ กรับ และโหม่ง
                          (3) วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ ประกอบด้วย ปี่ใน ปี่นอก ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ระนาดเอกเหล็ก ระนาดทุ้มเหล็ก ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ตะโพน กลองทัด ฉิ่ง ฉาบเล็ก ฉาบใหญ่ กรับ และโหม่ง
                      2) วงปี่พาทย์เสภา เป็นวงดนตรีที่มีการปรับปรุงครั้งแรกในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ใช้บรรเลงและขับร้องในการเล่นเสภา  ซึ่งมีการพัฒนามาจากทำนองขับเพื่อเล่านิทานคำกลอน  การเกิดวงปี่พาทย์เสภาเป็นมูลเหตุที่ก่อให้เกิดการพัฒนาทางด้านดนตรีไทยหลายประการ ดังนี้
                         1. เกิดวงดนตรีไทยเพื่อการฟัง และเกิดการเล่นเสภาอย่างแพร่หลาย
                         2. มีการส่งเสริมและสนับสนุนจากพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง ข้าราชการ ผู้มีฐานะ และนำไปสู่การตั้งเป็นสำนักดนตรีต่างๆ ในเวลาต่อมา
                         3. เกิดนักดนตรีมีฝีมือและนักร้องเพลงไทยจำนวนมาก
                         4. มีการแสวงหานักดนตรีฝีมือดีจากต่างจังหวัดให้เข้าไปเป็นนักดนตรีในสังกัดวงดนตรีของแต่ละวัง  แต่ละบ้าน หรือแต่ละสำนัก
                          5. มีการแข่งขันประชันและการคิดค้นเทคนิคการบรรเลงดนตรีอย่างหลากหลาย
                          6. เกิดเพลงโหมโรงเสภา ประเภทเพลง 3 ชั้น ซึ่งภายหลังได้นำมาเป็นเพลงโหมโรงของวงดนตรีไทยและวงมโหรีอย่างแพร่หลาย
                          7. มีการพัฒนาเพลง ทั้งการแต่งเพลง และการเพิ่มเทคนิคการบรรเลงในแนวของเพลงเดี่ยว จนเกิดเป็นเพลงเถาต่างๆ
                           การประสมวงปี่พาทย์เสภา  มีพื้นฐานมาจากวงปี่พาทย์ไม้แข็งทั้งขนาดของวงและเครื่องดนตรี โดยมีการนำลูกเปิงมาง 1 ลูก ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีของวงปี่พาทย์มอญมาตีกำกับหน้าทับแทนตะโพนและกลองทัด  เครื่องดนตรีของวงปี่พาทย์เสภาเครื่องคู่ประกอบด้วยปี่ใน  ปี่นอก ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก กลองสองหน้า ฉิ่ง ฉาบเล็ก  ฉาบใหญ่  กรับ และโหม่ง
                       3) วงปี่พาทย์ไม้นวม เป็นวงดนตรีที่มีการประสมวงในช่วงสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  โดยโครงสร้างของวงเหมือนกับวงปี่พาทย์ไม้แข็ง ซึ่งลักษณะเด่นของวงดนตรีชนิดนี้ คือ เมื่อบรรเลงแล้วจะให้ระดับเสียงการบรรเลงที่ทุ้ม นุ่มนวลกว่า โดยใช้ไม้นวมตีระนาดเอก และใช้ขลุ่ยเพียงออแทนปี่ในและปี่นอก  เพื่อลดเสียงเล็กแหลมออกและเพิ่มอู้ 1 คัน แต่ในบางโอกาสใช้กลองแขกตีกำกับจังหวะแทนตะโพนและกลองทัด
                       เครื่องดนตรีที่ใช้ประสมในวงปี่พาทย์ไม้นวม ยึดตามรูปแบบของวงปี่พาทย์ไม้แข็ง ยกเว้นปี่พาทย์ไม้นวมเครื่องใหญ่จะประกอบด้วย ขลุ่ยเพียงออ ซออู้ ระนาดเอก  ระนาดทุ้ม ระนาดเอกเหล็ก  ระนาดทุ้มเหล็ก ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ตะโพน กลองทัด ฉิ่ง ฉาบเล็ก กรับ และโหม่ง
                      4) วงปี่พาทย์นางหงส์ เป็นวงดนตรีที่ใช้ประโคมในงานศพ ดดยรูปแบบของวงดนตรีมีการปรับปรุงมาจากวงดนตรี 2 ประเภท คือ วงปี่พาทย์ไม้แข็งและวงบัวลอย ชื่อเรียกของวงดนตรีนี้เรียกตามชื่อเพลงที่นิยมนำมาประโคมในงาน คือเพลงนางหงส์ ซึ่งเพลงแนวนี้เริ่มต้นด้วยเพลงอัตรา 3 ที่มีลูกล้อ ลูกขัด แล้วออกเพลงเร็วตามความเหมาะสมหรือจะออกเพลงฉิ่งต่ออีกก็ได้ จากนั้นจึงออกด้วยเพลงภาษา เพลงที่นิยมมักเป็นเพลงหน้าทับลาว
                       โดยปกติผู้บรรเลงสามารถนำเพลงเร็วมาเป็นออกไปได้เรื่อยๆ ตามความเหมาะสม วิธีการเช่นนี้เป็นการวัดความรู้ความสามารถของผู้บรรเลงทั้งด้านฝีมือ และด้านความรู้ของผู้บรรเลงว่าร่ำเรียนดนตรีมากน้อยเพียงใด  วงปี่พาทย์ตามพื้นบ้านจะใช้กลองทัดตีแทนกลองมลายูซึ่งอาจเรียกว่า 'วงประโคม"
                        เครื่องดนตรีที่ใช้ในวงปี่พาทย์นางหงส์ ประกอบด้วย กลายู 1 คู่ ปี่ชวา ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ระนาดเอกเหล็ก  ระนาดทุ้มเหล็ก ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก  ฉิ่ง ฉาบเล็ก  ฉาบใหญ่ กรับ และโหม่ง
                       5) วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ เป็นวงดนตรีที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงปรับปรุงขึ้นใหม่ในช่วงสมัยราัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วัตถุประสงค์ของการปรับปรุงเพื่อใช้บรรเลงประกอบการแสดงละครดึกดำบรรพ์ที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ ซึ่งเจ้าพระยาเทเวศน์วิวัฒน์ (หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชร) ได้แนวคิดมาจากการแสดงโอเปร่าของชาวยุโรป รูปแบบการแสดงประณีตและการแสดงตามแนวละครใน  ส่วนตัวละครดำเนินเรื่องด้วยการขับร้อง มีฉากแสดงความสมจริงของเนื้อเรื่อง
                       นอกจากนี้ ยังมีการบรรเลงโหมโรงเฉพาะสำหรับเล่าบรรยายเรื่องก่อนการแสดง ชื่อของวงปี่พาทย์เรียกตามชื่อโรงละครที่สร้างขึ้นใหม่ว่า  "โรงละครดึกดำบรรพ์"
                       หลักการของวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ คือ แนวบรรเลงเพลงจะต้องออกต้องออกแบบไม่แข็งกร้าวเหมือนแนวบรรเลงของวงปี่พาทย์ไม้แข็ง  เพราะพื้นฐานละครที่ปรับปรุงยังคงยึดรูปแบบละครในและการแสดงอยู่ในโรงเรือนเพื่อไม่ให้เสียงดังก้องมากไป จึงมีการปรับปรุงวิธีการบรรเลงเสียงขึ้นใหม่ ไม้ที่ใช้ตีระนาดเอกก็เปลี่ยนมาใช้ไม้นวมแทนไม้แข็ง  ใช้ขลุ่ยเพียงออแทนปี่ใน และปี่นอก
                       เครื่องดนตรีในวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ ประกอบด้วย ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ระนาดทุ้มเหล็ก  ฆ้องวงใหญ่ ซออู้ ขลุ่ยเพียงออ  ขลุ่ยอู้ ตะโพน  วงฆ้องชัย และฉิ่ง
                       6) วงปี่พาทย์มอญ  เป็นวงดนตรีไทยวงหนึ่งที่ปรับปรุงขึ้นโดยนำเครื่องดนตรีมอญบางชนิด คือ ปี่มอญ ตะโพนมอญ เปิงมางคอก ฆ้องมอญ โหม่งกระจัง นำมาประสมกับวงปี่พาทย์ ไม้แข็ง โดยใช้บรรเลงในทุกโอกาส ทั้งงานมงคลและงานอวมงคล กรณีที่ใช้บรรเลงในงานอวมงคลจะใช้เพลงที่เกี่ยวกับพิธีกรรมโดยเฉพาะ เช่น เพลงประจำวัด เพลงยกศพ เป็นต้น
                          ตามหลักการประสมวงปี่พาทย์มอญแบ่งเป็น 2 ขนาด คือวงปี่พาทย์มอญเครื่องคู่และวงปี่พาทย์มอญเครื่องใหญ่  ดังนี้
                          (1) วงปี่พาทย์มอญเครื่องคู่ ประกอบด้วย ปี่มอญ ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องมอญวงใหญ่ ฆ้องมอญวงเล็ก  ตะโพนมอญ เปิงมางคอก  และเครื่องกำกับจังหวะ ได้แก่ ฉิ่ง ฉาบเล็ก ฉาบใหญ่ กรับ และโหม่งกระจัง
                           (2) วงปี่พาทย์มอญเครื่องใหญ่ ประกอบด้วย ปี่มอญ ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ระนาดเอกเหล็ก ระนาดทุ้มเหล็ก ฆ้องมอญวงใหญ่ ฆ้องมอญวงเล็ก ตะโพนมอญ เปิงมางคอก และเครื่องกำกับจังหวะ ได้แก่ ฉิ่ง ฉาบเล็ก ฉาบใหญ่ กรับ และโหม่งกระจัง
                               










ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บุคคลสำคัญในวงการนาฏศิลป์

เครื่องหมาย และสัญลักษณ์ในดนตรีสากล

วิวัฒนาการของดนตรีไทยในแต่ละยุคสมัย (สมัยรัตนโกสินธ์)