เกณฑ์ในการประเมินคุณภาพผลงานดนตรีไทย

       การประเมินคุณภาพผลงานด้านศิลปะทุกแขนง  ล้วนเป็นสิ่งที่ค่อนข้างประเมินได้ยาก  ทั้งนี้ผลขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้ประเมินแต่ละคน  ไม่สามารถทำให้ทุกคนมีความคิดเห็นตรงกันหรือมีความพอใจเหมือนกันได้  การประเมินคุณภาพผลงานดนตรีไทยก็เช่นเดียวกัน  ผู้ที่จะสามารถประเมินผลงานดนตรีไทยได้ลึกซึ้ง  จำเป็นต้องศึกษาและมีประสบการณ์เกี่ยวกับดนตรีไทยมากพอควร
      1.เกณฑ์ทั่วไปในการประเมินคุณภาพผลงานดนตรี
       1.1 เสียง  พิจารณาว่าเสียงแต่ละเสียงที่ผู็ประพันธ์ได้นำมาเรียบเรียงเป็นบทเพลงนั้นมีความไพเราะ เหมาะสมกลมกลืนกันหรือไม่เพียงใด  การประพันธ์เพลงเปรียบเสมือนการประพันธ์บทร้อยกรอง ซึ่งผู้ประพันธ์จำเป็นต้องคัดสรรคำที่มีทั้งเสียงสัมผัส และมีความหมายที่สัมพันธ์กัน
        1.2 รูปแบบของบทเพลง ควรพิจารณาว่าเพลงนั้นมีรูปแบบเป็นอย่างไร มีความเหมาะสมมีลักษณะใดที่โดเด่นหรือเป็นสิ่งใหม่ที่ปรากฏในวงการดนตรีหรือไม่ เช่น รูปแบบโหมโรงมหาราชมีลักษณะที่ต่างไปจากเพลงโหมโรงของเดิม เนื่องจากผู้ประพันธ์ คือ นายมนตรี  ตราโมท ได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อัญเชิญทำนองบทเพลงพระราชนิพนธ์เพลงใกล้รุ่งและเพลงเราสู้ มาแปลงเป็นอัตราจังหวะสองชั้น มีการสอดแทรกทำนองเพลงที่หลากหลาย มีทั้งทำนองอิสระ  ลูกล้อ ลูกขัด  เหลื่อม เข้ามาผสมผสานกันได้อย่างลงตัว ในตอนท้ายของบทเพลง ผู้ประพันธ์ยังได้อัญเชิญทำนองตอนหนึ่งจากบทเพลงพระราชนิพนธ์เพลงสายฝนมาใส่ไว้ด้วย ทำให้เพลงนี้มีรูปแบบและจังหวะผสมผสานระหว่างดนตรีไทยกับดนตรีสากล เป็นต้น
       1.3 ด้านเทคนิค พิจารณาว่าผลงานชิ้นนั้น เปิดโอกาสให้ผู้บรรเลงหรือผู้ขับร้องสามารถสอดแทรกเทคนิคในการบรรเลงหรือขับร้องได้มากน้อยเพียงใด ถ้าเป็นผลงานที่เรียบง่าย ย่อมได้รับความสนใจหรือการตอบรับจากผู้ฟังน้อย ดังนั้น ผลงานดนตรีไทยที่มีคุณค่าจึงควรมีการสอกแทรกเทคนิคการบรรเลงหรือการขับร้อง เพื่อให้ผู้ฟังเกิดอรรถรสมากขึ้นในขณะที่รับฟังด้วย
       1.4 ด้านการถ่ายทอดอารมณ์ เนื่องจากดนตรีใช้เสียงเป็นสื่อในการถายทอดอารมณ์ำ ดังนั้น ผลงานดนตรีไทยที่ดีและมีคุณค่าจึงจำเป็นต้องผลิตเสียงอันเกิดจากการบรรเลง ขับร้องก็ดีให้ถ่ายทอดออกมาอย่างมีคุณภาพให้ผู้ฟังสามารถรับรู้ถึงอารมณ์ ความรู้สึกที่ผู้ประพันธ์กำหนดไว้จึงจะจัดว่าผลงานชิ้นนั้นเป็นผลงานที่มีคุณค่า
       1.5 ด้านคุณภาพของผลงาน พิจารณาว่าผลงานนั้นมีความสมบูรณ์ครบทุกด้านหรือไม่ทั้งความไพเราะ  รูปแบบ ประโยชน์ที่ผู้ฟังได้รับ
      2. การประเมินความสารถทางดนตรีไทย
       หลักการประเมินความสามารถทางดนตรีไทยที่ใช้เป็นพื้นฐานในการประเมินหรือวิเคราะห์ความสามารถทางดนตรีไทย  พอจะแยกกล่าวเป็น 3 ด้าน  ดังนี้
       2.1 ความถูกต้องในการบรรเลงและขับร้อง การประเมินความถูกต้องในการบรรเลงและขับร้องเพลงไทย สามารถแบ่งเป็นหัวข้อหลักที่จะใช้ในการพิจารณาประเมินได้ 3 ข้อได้แก่
             - ทำนอง การประเมินความถูกต้องด้านนี้  ย่อมเกี่ยวข้องกับเสียงของเครื่องดนตรีและผู้บรรเลงหรือขับร้องเป็นทำนองที่ถูกต้องตามที่ผู้ประพันธ์ได้เรียบเรียงไว้หรือไม่เพียงใด  บางเพลงผู้ประพันธ์ได้ประพันธ์ทำนองไว้อย่างหนึ่ง แต่เวลาผู้บรรเลงนำมาบรรเลงกลับแต่งเติมจนผิดเพี้ยนไปจากเดิม  โดยเฉพาะเพลงที่เป็นเพลงบังคับทาง เช่น เพลงแขกต่อยหม้อสามชั้นท่อน 2  ผู้บรรเลงบางคนเพิ่มทำนองเพลงไปในช่วงรอจังหวะ อาจเป็นเพราะต้องการแสดงความสามารถหรือต้องการให้เกิดการสอดประสานเช่นเดียวกับเพลงสากลอย่างไรมิทราบแต่ถ้าเป็นเพลงบังคับ ไม่ควรเพิ่มเติมหรือปรับเปลี่ยนทำนองแต่อย่างได ดังตัวอย่างต่อไปนี้
   ทำนองเดิม
- - - -
- - - -
- - - ซ
- - - ม
- - ร ม
ร ด ท ด
ท ล ซ ล
ท ด ร ม
- - - -
- - -
ล ล ซ ล
ซ ซ ฟ ซ
ฟ ฟ ท ฟ
ม ม ร ม
ร ร ด ร
ด ด ท ด

ทำนองที่บรรเลงเพิ่ม
- - - -
- - - -
- - - ซ
- - - ม
- - ร ม
ร ด ท ด
ท ล ซ ม
ท ด ร ม
- - ซ ล
ท ด ร ม
ล ล ซ ล
ซ ซ ฟ ซ
ฟ ฟ ท ฟ
ม ม ร ม
ร ร ด ร
ด ด ท ด
                - จังหวะ การพิจารณาประเมินความถูกต้องในการบรรเลงและการขับร้องเพลงไทยจังหวะถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ถ้าบรรเลงหรือขับร้องจังหวะไม่ถูกต้อง หรือแนวจังหวะไม่เหมาะสม เช่น เพลงโหมโรงต่างๆ ถ้าบรรเลงแนวจังหวะช้า หรือเร็วสม่ำเสมอตั้งแต่ต้นจนจบเพลง ผู้ฟังจะไม่ได้รับอรรถรส ผู้บรรเลงจำเป็นต้องรักษาแนวจังหวะ และค่อยบรรเลงให้เร็วขึ้น ตามลำดับ แต่มิใช่เร็วจนเกินไป ถ้าเป็นการบรรเลงเป็นวง ควรพิจารณาความพร้อมเพรียงของผู้บรรเลงทุกคนว่ามีความสามัคคีกลมเกลียวกันเพียงใด  บางครั้งอาจมีผู้บรรเลงคนใดพลาดพลั้ง ผู้บรรเลงคนอื่นต้องช่วยแก้ทันที โดยไม่ทำให้ผู้ฟังเสียอรรถรส
                 - บทร้อง ถ้ามีการขับร้อง ต้องพิจารณาการออกเสียงคำในบทร้องของผู้ขับร้องว่า มีความชัดเจน ถูกต้องตามอักขรวิธี และต้องตรงตามความหมาย ไม่ผิดเพี้ยน
              2.2 ความแม่นยำในการอ่านความหมายและสัญลักษณ์  การประเมินด้านนี้อาจไม่จำเป็นสำหรับการบรรเลงหรือขับร้องเพลงไทยนัก  เพราะการบรรเลงและขับร้องเพลงไทยตามแบบฉบับเดิม ไม่นิยมการดูโน้ตขณะบรรเลงหรือขับร้อง แต่ในปัจจุบัน เริ่มมีการนำโน้ตเข้ามาใช้ในการฝึกหัดดนตรีไทย บางวงใช้โน้ตขณะบรรเลงหรือขับร้อง ถ้าจะพิจารณาการบรรเลงหรือขับร้องในด้านความแม่นยำในการอ่านความหมายหรือสัญลักษณื สามารถพิจารณาประเมินได้จากการบรรเลงหรือขับร้องว่าตรงตามจังหวะหรือไม่ การบรรเลงซ้ำ หรือการนับเที่ยวทำนองถูกต้องหรือไม่เพียงใด บางช่วงของบทเพลงอาจมีการบรรเลงหรือขับร้องซ้ำทำนองบางตอนของบทเพลงผู้บรรเลงสามารถดูและเข้าใจเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์นั้นได้คล่องแคล่ว ถูกต้องมากน้อยเพียงใด  ทันจังหวะเพลงหรือไม่
             2.3 การควบคุมคุณภาพเสียงในการขับร้องและการบรรเลง  สามารถจำแนกเป็น 2 กลุ่ม คือ การควบคุมคุณภาพเสียงในการขับร้อง  และการควบคุมคุณภาพเสียงในการบรรเลง
               2.3.1 การควบคุมคุณภาพเสียงในการขับร้อง  หลักในการพิจารณาประเมินประกอบด้วย คุณภาพเสียง และเทคนิคการร้อง
                2.3.1.1 คุณภาพเสียง  สิ่งที่พึงประเมินเกี่ยวกับคุณภาพเสียง ประกอบด้วย
                          - น้ำเสียงสดใส กังวาน น่าฟัง ไม่เพี้ยน
                          - ความดังของเสียงสม่ำเสมอ สามารถออกเสียงได้ชัดเจนทุกพยางค์ไม่มีเสียงบอด
                          - ความถูกต้องด้านอักขรวิธี การออกเสียง "ร"   "ล" หรือคำควบกล้ำอื่นๆ
                          - ความหมายของคำทุกคำต้องถูกต้อง ไม่เพี้ยน
                          - การขึ้น ลงเสียงเหมาะสม กลมกลืน ไม่โหนเสียง
                2.3.1.2 เทคนิคในการขับร้อง  สิ่งที่พึงประเมินประกอบด้วย
                          - การเอื้อน การออกเสียงคำตามวรรณยุกต์ได้ไพเราะ เหมาะสม ถูกต้อง
                          - การผ่อนลมหายใจได้เหมาะสม เสียงคำชัดเจนทุกคำ
                          - การใช้เสียงในการถ่ายทอดอารมณ์เพลงได้อย่างเหมาะสม
              2.3.2 การควบคุมคุณภาพเสียงในการบรรเลง  หลักในการพิจารณาประกอบด้วย คุณภาพเสียง และเทคนิคในการบรรเลง
                2.3.2.1 คุณภาพเสียง สิ่งที่พึงประเมินเกี่ยวกับคุณภาพเสียง ประกอบด้วย
                          - เสียงเครื่องดนตรีทุกชิ้นดัง  มีระดับเสียงที่ถูกต้อง ไม่เพี้ยน
                          - ความสมดุลของเสียงเครื่องดนตรีทุกชิ้นในวง
                2.3.2.2 เทคนิคในการบรรเลง สิ่งที่พึงประเมินประกอบด้วย
                          - ความสามารถในการใช้เสียงดนตรีถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกได้อย่างเหมาะสมกับ                                    บทเพลง
                          - ความพร้อมเพรียงในการบรรเลง
                          - การสอดแทรกเทคนิคต่างๆในการบรรเลง ทำให้เพิ่มอรรถรสในบทเพลงได้อย่าง                                       เหมาะสม  ไม่มากหรือน้อยเกินไป
                          - การขึ้น ลง รับ ส่งร้องหรือเปลี่ยนเพลงราบรื่น

                                         ตัวอย่างการบรรเลงวงดนตรีไทย













WINKWHITE                         

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บุคคลสำคัญในวงการนาฏศิลป์

การอนุรักษ์นาฏศิลป์ไทย

เครื่องหมาย และสัญลักษณ์ในดนตรีสากล