ศ33102 แนวทางการส่งเสริมและอนุรักษ์ดนตรีไทย

                  ดนตรีไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าต่อคนไทยทุกคน ดนตรีไทยมีบทบาทสำคัญในกิจกรรมประเพณีที่ปรากฏในชีวิตประจำวันของคนไทย แม้ว่าในปัจจุบันสังคมและวัฒนธรรมไทยได้มีหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป แต่ความสำคัญของดนตรีไทยยังคงอยู่ โดยเฉพาะคุณค่าในความเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม  ซึ่งหลายประเทศในโลกไม่มีดนตรีที่แสดงความเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของชาติตน ซึ่งการจะส่งเสริมและอนุรักษ์ดนตรีไทยให้คงอยู่คู่สังคมไทยตลอดไปนักเรียนจะต้องเข้าใจความสำคัญของดนตรีไทยจนนำไปสู่แนวทางในการส่งเสริมและอนุรักษ์ดนตรีไทยไทยต่อไป
                1. ความสำคัญของดนตรีไทย
                 ดนตรีไทยมีความสำคัญในฐานะเป็นวัฒนธรรมของชาติ มีความผูกพันกับโครงสร้างทางสังคม และยังเป็นเครื่องหมายแห่งการเผยแพร่สิ่งดีงามของชาติไทยต่อสังคมโลก โดยสามารถสรุปความสำคัญของดนตรีไทยเป็นประเด็นสำคัญได้ ดังนี้
                 1.1 ดนตรีไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติไทย   ที่สะท้อนให้เห็นภูมิปัญญาทางความคิดของศิลปินดนตรีที่สร้างสรรค์และนำมาใช้ในกิจกรรมต่างๆของสังคมไทย โดยศิลปินดนตรีได้ปรับปรุงสิ่งที่เคยมีการสร้างสรรค์ไว้ให้สอดคล้องกับยุคสมัย เช่น เพลงเดี่ยวด้วยเครื่องดนตรีต่างๆซึ่งสอดแทรกด้วยเทคนิควิธีที่ซับซ้อนที่แสดงให้เห็นทักษะปฏิบัติและความรู้ความสามารถของศิลปินดนตรี เป็นต้น
             
                    1.2 ดนตรีไทยเป็นเป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตไทย    ในด้านการปรับปรุงแต่งกิจกรรมทางสังคม  สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหมู่คณะ สร้างความเชื่อ  และค่านิยมร่วมกันเพราะเมื่อมีกิจกรรมทางสังคม ดนตรีไทยจะเข้าไปมีส่วนในการสร้างความสมบูรณ์ให้แก่งานที่จัดขึ้น ดังพบเห็นได้ในงานพระราชพิธีและงานพิธีกรรมต่างๆของประชาชนทั่วไป เช่น พิธีขึ้นบ้านใหม่ พิธีเฉลลิมฉลองที่มีการนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ งานบวชนาค  งานเทศกาลต่างๆ เป็นต้น

                 1.3 ดนตรีไทยแสดงถึงความมั่นคงของประเทศชาติ    ดนตรีไทยเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำหน้าที่ในการแสดงความเป็นไทย เพราะดนตรีไทยเป็นวัฒนธรรมของชาติไทย มีเอกลักษณ์ที่สามารถอวดชาวโลกให้รับรู้ได้ ทั้งเครื่องดนตรีไทย วงดนตรีไทย เพลงไทย และศิลปินดนตรีไทย ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ที่ว่า "วัฒนธรรมคือชาติ ผู้ใดทำลายวัฒนธรรมแสดงว่าผู้นั้นคือผู้ทำลายชาติ"

                    2. แนวทางและวิธีการส่งเสริมอนุรักษ์ดนตรีไทย
                    การดำรงอยู่และรักษาดนตรีไทยเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่ต้องร่วมมือร่วมใจกัน โดยแนวทางและวิธีการส่งเสริมอนุรักษ์ดนตรีไทยควรใช้แนวทางดังต่อไปนี้
                    2.1 ปลูกจิตสำนึกให้คนไทยเห็นคุณค่าของดนตรีไทย   ด้วยการทำให้คนไทยทุกคนเกิดความรู้สึกว่า "ดนตรีไทยเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของคนไทยที่มีคุณค่าต่อคนไทยทุกคน" เพราะเมื่อใดก็ตามที่บุคคลยอมรับความเป็นเจ้าของ ย่อมเกิดความรัก  ความหวงแหน เช่น นักเรียนเป็นสมาชิกหนึ่งของโรงเรียน นักเรียนก็รักสถาบัน รักชื่อเสียงโรงเรียน รักครูอาจารย์ และเพื่อนๆในโรงเรียน เมื่อมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ มีความผูกพันเกิดความรัก ก็พร้อมที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่างให้สถาบันมีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป เช่นเดียวกับดนตรีไทยหากเราปลูกจิตสำนึกให้คนไทยรู้สึกเป็นของดนตรีไทยร่วมกัน คนไทยก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือร่วมใจในการสืบสานและอนุรักษ์ดนตรีไทย เพราะถือว่าเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของคนไทยทุกคน

                     2.2 ส่งเสริมให้คนไทยเข้าถึงดนตรีไทยอย่างแท้จริง  ด่วยวิธีการให้คนไทยได้ศึกษาและเรียนรู้ข้อมูลดนตรีไทย ทั้งด้านความหมาย  คุณค่า ความสำคัญ และประวัติความเป็นมาของดนตรีไทยทั้ง 4 ด้าน คือ
                       1) ด้านรูปธรรม  ได้แก่ รูปร่างลักษณะของเครื่องดนตรีไทย  สีสันของเครื่องดนตรี การประสมวงดนตรี  นักดนตรีที่ทำหน้าที่บรรเลงเครื่องดนตรี นอกจากนี้ ยังมีคำร้องที่มาจากบทร้อยกรองของวรรณคดีหรือที่ประพันธ์ขึ้นเป็นการเฉพาะในกิจกรรมต่างๆ


                       2) ด้านนามธรรม  ไดแก่ รสของเพลงที่เป็นผลงานจากทำนองเพลงไทยในรูปแบบเพลงไทยประเภทต่างๆ เช่น เพลงโหมโรงเกี่ยวกับพิธีกรรม เพลงโหมโรงเสภา เพลงเรื่อง เพลงตับ เพลงเถา เพลงเดี่ยว เพลงหน้าพาทย์

                       3) ด้านคุณค่า  ได้แก่ คุณค่าในตัวของบทเพลงที่ให้รสเพลงที่เกิดจากการบรรเลงและขับร้องจนก่อให้เกิดความรู้สึกว่าเพลงนั้นมีความไพเราะ หรือเกิดอารมณ์เพลงรูปแบบต่างๆ เช่น อารมณ์ รัก โศกเศร้า  สนุกสนาน เร้าใจ เป็นต้น ซึ่งคนที่ไม่ฟังเพลงหรือฟังเพลงไม่เป็น ฟังแล้วไม่เข้าใจ  จะไม่สามารถเข้าถึงคุณค่าของดนตรีไทยได้


                       4) ด้านบทบาทหน้าที่ ได้แก่ การนำดนตรีมาใช้ประโยชน์ในกิจกรรมทางสังคมและวัฒนธรรม เช่น ดนตรีประกอบพระราชพิธี  ดนตรีประุกอบกิจกรรมของราษฎร  ดนตรีประกอบการแสดง ดนตรีเพื่อความบันเทิง เป็นต้น

                      2.3 กระตุ้นให้คนมีทัศนคติที่ดีและภาคภูมิใจในดนตรีไทย   โดยคนไทยทุกคนต้องเข้าใจคุณค่าของดนตรี  เข้าใจวิธีการส่งเสริม ิ การอนุรักษ์ดนตรีไทย  การพัฒนา และให้ความร่วมมือร่วมใจในทุกวิธีการ ด้วยการเข้าถึงกระบวนการสืบทอดดนตรีไทยที่ต่อเนื่องจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน  ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่จัดกิจกรรมดนตรี ช่วยขยายผลของงานศิลปะดนตรีไทยให้กว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศ















ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บุคคลสำคัญในวงการนาฏศิลป์

การอนุรักษ์นาฏศิลป์ไทย

เครื่องหมาย และสัญลักษณ์ในดนตรีสากล