ประเภทของเพลงสากล

                เพลงสากลจัดหมวดหมู่ได้หลายแนวคิด ในบทเรียนนี้เป็นอีกแนวคิดหนึ่ง คือจัดเป็นกลุ่มใหญ่ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเพลงบรรเลงด้วยเครื่องดนตรี กลุ่มเพลงขับร้องและกลุ่มเพลงขับร้องประสานเสียง  ซึ่งในแต่ละกลุ่มใหญ่สามารถจำแนกเป็นกลุ่มย่อยได้อีกหลายกลุ่ม ดังนี้
               1.เพลงคลาสสิก
               เพลงคลาสสิก หมายถึง เพลงที่มีคุณค่าด้านสังคีตศิลป์ชั้นสูงที่มีแบบแผน หลักไวยากรณ์และมีกระบวนแบบเป็นเลิศ ซึ่งสังคีตกวีนิพนธ์ขึ้นด้วยวิธีบันทึกทุกส่วนประกอบของบทเพลง ได้แก่ จังหวะ ทำนอง เสียงประสาน ลีลาสอดประสาน ตลอดจนองศาความดังเบา ลงเป็นตัวโน้ตบนกระดาษ เพื่อกำหนดเป็นมาตรฐานให้นักดนตรีทำการบรรเลงหรือขับร้องตามที่โน้ตกำหนดอย่างเคร่งครัดและไม่ผิดเพี้ยนจากต้นฉบับ โน้ตทุกตัวทำให้เกิดเสียงดนตรีทุกเสียงที่มีเสน่ห์ดึงดูดอารมณ์ของผู้ฟัง ยิ่งฟังซ้ำยิ่งไพเราะ เพราะสังคีตกวีผู้นิพนธ์ได้ออกแบบร้อยเรียงเสียงทุกเสียง และแนวเสียงทุกแนวเข้าด้วยกันโดยใช้สังคีตศิลป์ชั้นสูง   เพลงคลาสสิกจำแนกได้เป็น 5 กลุ่มใหญ่ดังนี้
              1.1 กลุ่มบรรเลงด้วยวงออร์เคสตรา (Orchestral music) คือเพลงคลาสสิกที่บรรเลงด้วยวงออร์เคสตราที่นักดนตรีจริงเล่นเครื่องดนตรีจริงจากทุกสกุล จำนวนนับร้อยคน
              1.2 กลุ่มบรรเลงด้วยวงเชมเบอร์มิวสิก (Chamber  music) คือเพลงคลาสสิกที่บรรเลงด้วยวงเชมเบอร์มิวสิกที่ใช้เครื่องดนตรี 2-9 ชิ้น
              1.3 กลุ่มบรรเลงเดี่ยวและบรรเลงคู่ (Solo and duo) คือดนตรีคลาสสิกที่มีช่วงสำหรับให้เครื่องดนตรีชิ้นหนึ่งบรรเลงเดี่ยวและมีช่วงให้นำอีกชิ้นหนึ่งมาบรรเลงประสมวงด้วย
              1.4 กลุ่มเพลงขับร้อง (Vocal  music) คือเพลงคลาสสิกสำหรับใช้เสียงนักร้องบรรเลงแทนเสียงของเครื่องดนตรี
              1.5 กลุ่มดนตรีสำหรับประกอบการแสดงต่างๆ เช่น โอเปรา บัลเลต์ เป็นต้น

         
              2. เพลงป็อปปูลาร์
              เพลงป็อปปูลาร์ หมายถึง เพลงที่ได้รับความนิยมจากมหาชนในแต่ละยุคสมัยอย่างกว้างขวาง เพลงป็อปปูลาร์มีคุณลักษณะเกือบตรงกันข้ามกับเพลงคลาสสิก คือ ประพันธ์ขึ้นอย่างง่ายๆ มีไวยากรณ์เพลงไม่ซับซ้อนและไม่เคร่งครัดตามกฏระเบียบแบบแผน มีมากหลายกระบวนแบบตามแนวคิดของศิลปินผู้สร้างสรรค์ ส่วนประกอบสำคัญของเพลงป็อปปูลาร์คือมีท่อนฮุก (Hook) ที่มีทำนองดึงดูดใจและสามารถจดจำได้ง่าย ท่อน catchy tune ซึ่งใช้ประโยคสั้นๆ ซ้ำๆ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ฟังจดจำได้ จังหวะของเพลงป็อปปูลาร์มักเป็นจังหวะตกคงที่ ลักษณะจังหวะและกระบวนแบบของเพลงมีหลากหลายตามแหล่งกำเนิดเพลง อัตราความเร็วมักเป็นอัตราเร็วเร้าใจ ชวนให้ลุกกระโดโลดเต้นและที่สำคัญ คือ บทร้องมีสำนวนโวหารและสาระชวนฟังให้จดจำนำมาขับร้องตามเพราะรสทางวรรณศิลป์ครบถ้วน ทั้งรสรัก รสเศร้า รสกล้าหาญ รสชวนขัน รสโกรธขึ้ง เป็นต้น

              3. เพลงศาสนา
              เนื่องจากจุดเริ่มต้นของเพลงคลาสสิกเกิดจากนักบวชในศาสนาคริสต์เป็นผู้คิดค้นคว้าและสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อใช้ในศาสนพิธีและสวดสรรเสริญพระศาสดา ซึ่งในแต่ละโบสถ์จะมีเนื้อเพลงที่มีความแตกต่างกันไป หลักๆ แบ่งได้ 2 หมวด คือ หมวดที่ใช้ในพิธีสวดและพิธีกรรมสักการบูชา และหมวดที่ใช้ในพิธีการอื่นๆ เช่น ใช้แสดงเป็นคอนเสิร์ตที่นำสาระจากคัมภีร์ไบเบิลมาแสดง เป็นต้น

           
              4. เพลงฆราวาสหรือเพลงบันเทิง
              เพลงบันเทิงคือเพลงที่ใช้นอกโบสถ์สำหรับฆราวาส (Secular music) ไม่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับศาสนา เป็นเพลงที่เผยแพร่ออกมานอกโบสถ์และนอกวังของราชวงศ์หรือขุนนางในยุโรปใช้บรรเลงหรือขับร้องเพื่อความบันเทิงในงานรื่นเริงต่างๆ ของสาธาณชน เช่น งานออกร้านขายสินค้า งานเต้นรำ งานแห่ งานราตรีสโมสร  งานเฉลิมฉลอง หรือแสดงในสถานประกอบการต่างๆ เป็นต้น
             เพลงสำหรับฆราวาสมีทั้งที่เป็นเพลงคลาสสิกและเพลงป็อปปูลาร์  ทั้งที่เป็นเพลงบรรเลงและเพลงขับร้อง ทั้งขับร้องเดี่ยวและขับร้องประสานเสียง


              5. เพลงขับร้องแนวเดียว
              เพลงขับร้องแนวเดียว หมายถึง เพลงขับร้องที่นักร้องคนเดียวขับร้องตั้งแต่ต้นจนจบ อาจมีวงดนตรีบรรเลงประกอบหรือวงขับร้องประสานเสียงขับร้องสนับสนุนก็ได้ แต่จุดเด่นอยู่ที่เสียงขับร้องเดี่ยว  นักร้องที่จะขับร้องเดี่ยวได้อย่างมีคุณภาพต้องเป็นนักร้องที่เป็นศิษย์มีครู ได้รับการฝึกฝนการขับร้องอย่างถูกวิธี ต้องฝึกซ้อมการขับร้องอย่างสม่ำเสมอ และควรมีคุณสมบัติอย่างน้อย 3 ประการ คือ
              1) มีความเชื่อมั่นว่าตนเองสามารถขับร้องเพลงได้ดี
              2) มีสัญชาตญาณหรือความสารถแฝงในการขับร้องเพลงมาตั้งแต่กำเนิดหรือมีปัจจัยแวดล้อม                       มากระตุ้น
              3) มีความกระตือรือร้นใฝ่ใจที่จะขับร้องเพลง
การขับร้องเดี่ยวมีทั้งที่เป็นเพลงคลาสสิกและเพลงป็อปปูลาร์ การขับร้องเดี่ยวเพลงคลาสสิกนั้นนักร้องต้องได้รับการฝึกฝนเป็นพิเศษ เพื่อให้สามารถเปล่งเสียงที่ทรงพลัง มีช่วงเสียงกว้างปั้นน้ำเสียงให้ได้อารมณ์ตามสาระของบทร้อง และทุกถ้อยคำที่เปล่งออกมาต้องใช้ศิลปะในการเปล่งเสียงทั้งสิ้น ส่วนนักร้องเพลงป็อปปูลาร์นั้น มักใช้เสียงตามธรรมชาติที่เป็นลักษณะเฉพาะของตนเอง และอาจใช้พลังเสียงน้อย เพราะใช้ไมโครโฟนช่วย แต่ก็ต้องได้รับการฝึกฝนให้ขับร้องอย่างมีศิลปะด้วย

              6. เพลงขับร้องหมู่
               เพลงขับร้องหมู่ หมายถึง การขับร้องเดี่ยวด้วยนักร้องหลายคนขับร้องเพลงเดียวกันไปพร้อมกันตามโน้ตแนวเดียว คุณประโยชน์ที่เกิดจากการขับร้องหมู่ คือ
               1) ทำให้นักร้องร่วมกลุ่มรู้สึกไม่เดียวดายขณะขับร้อง หากคนใดคนหนึ่งขับร้องบกพร่องในบางตอน ก็ยังมีนักร้องคนอื่นช่วยประคับประคองให้เพลงดำเนินไปจนจบบท
               2) ทำให้หมู่นักร้องทั้งหมู่เกิดความสมัครสมานสามัคคี รักหมู่คณะ ภูมิใจในหมู่คณะ และมั่นใจว่าตนมีคณะสังกัดไม่ถูกโดเดี่ยว
               3) ทำให้นักร้องแต่ละคนมีความรู้สึกว่าเสียงของตนมีพลัง เพราะได้ยินเสียงนักร้องอื่นๆช่วยเสริมพลังด้วย
               4) ทำให้นักร้องทุกคนมีระเบียบวินัย เพราะต้องขับร้องไปตามที่โน้ตกำหนดอย่างเคร่งครัดและปฏิบัติตามที่วาทยากรบอกสัญญาณ


               7. เพลงขับร้องหลายแนว
                เพลงขับร้องหลายแนว หมายถึง เพลงขับร้องหมู่ที่แยกเป็นหลายแนว สามารถแบ่งได้เป็น 4 แนว คือ
               1) แนวโซปราโน  (Soprano) เป็นแนวทำนองหลักสำหรับให้กลุ่มนักร้องหญิงที่มีช่วงเสียง แหลมสูงระหว่างระดับเสียง C กลางขึ้นไปหา Cแหลมสูงขึ้นไป 2 ช่วงทบเสียง เรียกแนวนี้ว่า "แนวบน"
               2) แนวเสียงอัลโต (Alto) หรือ คอนตรัลโต เป็นแนวเสียงประสานสำหรับให้กลุ่มนักร้องหญิงที่มีเขตช่วงเสียงต่ำ ลงมาจากแนวโซปราโน ระหว่างระดับเสียง E ต่ำใต้เส้นน้อย 3 เส้นหลังเอฟเคลฟขึ้นไปหา E สูงขึ้นไป 2 ช่วงทบเสียง เรียกแนวนี้ว่า "แนวในบน"
               3) แนวเสียงเทเนอร์ (Tenor) เป็นแนวเสียงประสานสำหรับให้นักร้องชายที่มีเขตช่วงเสียงทุ้ม ระหว่างระดับเสียง A ต่ำ ขึ้นไปหา A สูง 2 ช่วงทบเสียงหลัง เอฟเคลฟ เรียกแนวนี้ว่า "แนวในล่าง" เป็นแนวเสียงที่ต่ำกว่าแนวอัลโต
              4) แนวเสียงเบส (Bass) เป็นแนวเสียงประสานต่ำสุดสำหรับให้นักร้องชายที่มีเขตช่วงเสียงทุ้มลึก ระหว่างระดับเสียง D ต่ำใต้เส้นน้อย 1 เส้น ขึ้นไปหา D สูงเหนือ C กลาง หลังเอฟเคลฟ 2 ช่วงทบเสียง เรียกแนวเสียงนี้ว่า "แนวล่าง"





















ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บุคคลสำคัญในวงการนาฏศิลป์

เครื่องหมาย และสัญลักษณ์ในดนตรีสากล

วิวัฒนาการของดนตรีไทยในแต่ละยุคสมัย (สมัยรัตนโกสินธ์)