ศ33102 รูปแบบการบรรเลงดนตรีไทย

                การบรรเลงรวมวง หมายถึง การนำเครื่องดนตรีหลายๆชนิดมาบรรเลงร่วมกัน ซึ่งปรมาจารย์ทางดนตรีไทยได้กำหนดรูปแบบของการบรรเลงรวมวงไว้อย่างเหมาะสม รูปแบบการบรรเลงรวมวงที่ปรมาจารย์ทางดนตรีไทยกำหนดไว้ แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ วงปี่พาทย์  วงเครื่องสาย และวงมโหรี ซึ่งแต่ละประเภทจะแบ่งรูปแบบและขนาดต่างๆ ดังนี้
               1. วงปี่พาทย์ เป็นวงดนตรีที่มีเครื่องดนตรีประเภทเครื่องตีและเครื่องเป่าเป็นหลักในการดำเนินทำนอง แบ่งเป็นวงปี่พาทย์ชาตรี วงปี่พาทย์ไม้แข็ง วงปี่พาทย์ไม้นวม วงปี่พาทย์เสภา วงปี่พาทย์ดึดำบรรพ์  วงปี่พาทย์มอญ และวงปี่พาทย์นางหงส์ แต่ละชนิดยังมีการกำหนดขนาดของวงเป็นขนาดต่างๆด้วย เช่น เครื่องห้า เครื่องคู่ เครื่องใหญ่ เป็นต้น
              จุดประสงค์ของการบรรเลงวงปี่พาทย์ มิได้เน้นการฟังเพื่อความเพลิดเพลินส่วนใหญ่ใช้บรรเลงประกอบพิธีหรือพระราชพิธีต่างๆ และบรรเลงประกอบการแสดงโขน ละคร ดังนั้น เทคนิคในการบรรเลงเพื่อถ่ายทอดอารมณ์เพลงจึงแตกต่างไปจากวงดนตรีไทยประเภทอื่นๆโดยจะจำแนกให้เห็นอย่างชัดเจน ดังนี้
            1.1 วงปี่พาทย์ชาตรี ประสมวงด้วย ปี่นอก 1 เลา โทนชาตรี 1 คู่ กลองตุ๊ก (กลองชาตรี) 1 ลูก ฆ้องคู่ 1 รางและฉิ่ง 1 คู่
                  โอกาสที่ใช้ในการแสดง คือ นิยมบรรเลงประกอบการแสดงโนราชาตรี และการแสดงหนังตะลุงซึ่งเป็นการแสดงพื้นบ้านทางภาคใต้ของไทย เทคนิคการถ่ายทอดอารมณ์เพลงเน้นที่จังหวะหน้าทับที่ต้องบรรเลงให้กระชับ สอดรับลีลาท่าทางของผู้แสดง โดยไม่เน้นท่วงทำนองเพลง เนื่องจากในวงมีเครื่องดนตรีดำเนินทำนองเพียงชนิดเดียวคือ ปี่นอก

             1.2 วงปี่พาทย์ไม้แข็ง แบ่งเป็นขนาดต่างๆ ได้ดังนี้
                 1) วงปี่พาทย์เครื่องห้า ประสมวงด้วย ระนาดเอก 1ราง ฆ้องวงใหญ่ 1 วง ปี่ใน 1 เลา ตะโพน 1 ลูก กลองทัด 2 ลูก และ ฉิ่ง 1คู่

                 2) วงปี่พาทย์ไม้แข็งเครื่องคู่ ประสมวงด้วย ระนาดเอก 1 ราง ระนาดทุ้ม 1 ราง  ปี่ใน 1 เลา ปี่นอก 1 เลา ฆ้องวงใหญ่ 1 วง ฆ้องวงเล็ก 1 วง ตะโพน 1 ลูก กลองทัด 2 ลูก  ฉาบเล็ก 1 คู่  ฉิ่ง 1 คู่


                 3) วงปี่พาทย์ไม้แข็งเครื่องใหญ่  ประสมวงเหมือนวงปี่พาทย์ไม้แข็งเครื่องคู่ แต่มีการเพิ่มระนาดเอกเหล็ก 1 ราง และระนาดทุ้มเหล็ก 1 ราง

             โอกาสที่ใช้ในการแสดง นิยมใช้เบรรเลงประโคมบรรเลงประกอบพิธีหรือพระราชพิธีต่างๆ และบรรเลงประกอบการแสดงโขน  จุดประสงค์ของการบรรเลงเพื่อแสดงถึงความขลัง ความศักดิ์สิทธฺ์ และความสง่างาม เทคนิคในการถ่ายทอดอารมณ์เพลงเน้นที่ความเข้มแข็ง เสียงของเครื่องดนตรีดำเนินทำนองทุกชิ้นจะโดเด่น แนวทำนองเพลง จังหวะหน้าทับและจังหวะฉิ่งจะกระชับ เคร่งขึม ไม่เชื่องช้าช่วยให้ผู้ฟังเกิดความเร้าใจ ตื่นเต้น และน่าเกรงขาม
              1.3 วงปี่พาทย์ไม้นวม  ประสมวงคล้ายกับวงปี่พาทย์ไม้แข็ง แตกต่างกันเพียงเครื่อตีจะใช้ไม้นวม ใช้ขลุ่ยเพียงออแทนปี่ใน และเพิ่มซออู้ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่มีเสียงนุ่มนวลเข้าไปอีกชนิดหนึ่ง
              โอกาสในการแสดง  นิยมใชับรรเลงประกอบการแสดงละครใน ละครนอก และระบำเบ็ดเตล็ดต่างๆ เน้นความไพเราะ นุ่มนวลจากเสียงของเครื่องดนตรีที่นำมาบรรเลงประกอบลีลาท่าทางของผู้แสดงอย่างลงตัว ดังนัน้ เทคนิคในการถ่ายทอดอารมณืเพลงจึงแตกต่างไปจากวงปี่พาทย์ไม้แข็ง  คือ เน้นเสียงที่นุ่มนวล ไม่กร้าวแกร่งหรือหรือหนักแน่น แนวจังหวะปานกลาง ไม่ช้าหรือไม่เร็วจนเกินไป  เพราะการแสดงละครอ่อนนหวานและเชื่องช้ากว่าการแสดงโขน

               1.4 วงปี่พาทย์เสภา ประสมวงด้วยเครื่องดนตรีต่งๆ ที่คล้ายกับวงปี่พาทย์ไม้แข็ง แต่ใช้ไม้นวมตี โดยเปลี่ยนเครื่องดนตรีที่ใช้กำกับจังหวะหน้าทับจากตะโพนและกลองทัดเป็นกลองทัดเป็นสองหน้าแทน


                โอกาสที่ใช้ในการแสดง วงปี่พาทย์เสภาใช้บรรเลงสลับการขับเสภา เทคนิคการถ่ายทอดอารมณ์เพลงคล้ายกับวงปี่พาทย์ไม้นวม คือ เน้นความนุ่มนวล ไพเราะ อ่อนหวาน
                 1.5 วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ ประกอบด้วย ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ระนาดทุ้มเหล็ก  ฆ้องวงใหญ่ ซออู้ ขลุ่ยเพียงออ  ขลุ่ยอู้ ตะโพน  วงฆ้องชัย และฉิ่ง 
                  หลักการของวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ คือ แนวบรรเลงเพลงจะต้องออกต้องออกแบบไม่แข็งกร้าวเหมือนแนวบรรเลงของวงปี่พาทย์ไม้แข็ง  เพราะพื้นฐานละครที่ปรับปรุงยังคงยึดรูปแบบละครในและการแสดงอยู่ในโรงเรือนเพื่อไม่ให้เสียงดังก้องมากไป จึงมีการปรับปรุงวิธีการบรรเลงเสียงขึ้นใหม่ ไม้ที่ใช้ตีระนาดเอกก็เปลี่ยนมาใช้ไม้นวมแทนไม้แข็ง  ใช้ขลุ่ยเพียงออแทนปี่ใน และปี่นอก

                 1.6 วงปี่พาทย์มอญ  ตามหลักการประสมวงปี่พาทย์มอญแบ่งเป็น 2 ขนาด คือวงปี่พาทย์มอญเครื่องคู่และวงปี่พาทย์มอญเครื่องใหญ่  ดังนี้
                          (1) วงปี่พาทย์มอญเครื่องคู่ ประกอบด้วย ปี่มอญ ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องมอญวงใหญ่ ฆ้องมอญวงเล็ก  ตะโพนมอญ เปิงมางคอก  และเครื่องกำกับจังหวะ ได้แก่ ฉิ่ง ฉาบเล็ก ฉาบใหญ่ กรับ และโหม่งกระจัง
                           (2) วงปี่พาทย์มอญเครื่องใหญ่ ประกอบด้วย ปี่มอญ ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ระนาดเอกเหล็ก ระนาดทุ้มเหล็ก ฆ้องมอญวงใหญ่ ฆ้องมอญวงเล็ก ตะโพนมอญ เปิงมางคอก และเครื่องกำกับจังหวะ ได้แก่ ฉิ่ง ฉาบเล็ก ฉาบใหญ่ กรับ และโหม่งกระจัง
                          ใช้บรรเลงในทุกโอกาส ทั้งงานมงคลและงานอวมงคล กรณีที่ใช้บรรเลงในงานอวมงคลจะใช้เพลงที่เกี่ยวกับพิธีกรรมโดยเฉพาะ เช่น เพลงประจำวัด เพลงยกศพ เป็นต้น

                  1.7 วงปี่พาทย์นางหงส์ ประกอบด้วย กลายู 1 คู่ ปี่ชวา ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ระนาดเอกเหล็ก  ระนาดทุ้มเหล็ก ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก  ฉิ่ง ฉาบเล็ก  ฉาบใหญ่ กรับ และโหม่ง
                    ใช้ประโคมในงานศพ โดยรูปแบบของวงดนตรีมีการปรับปรุงมาจากวงดนตรี 2 ประเภท คือ วงปี่พาทย์ไม้แข็งและวงบัวลอย ชื่อเรียกของวงดนตรีนี้เรียกตามชื่อเพลงที่นิยมนำมาประโคมในงาน คือเพลงนางหงส์ ซึ่งเพลงแนวนี้เริ่มต้นด้วยเพลงอัตรา 3 ที่มีลูกล้อ ลูกขัด แล้วออกเพลงเร็วตามความเหมาะสมหรือจะออกเพลงฉิ่งต่ออีกก็ได้ จากนั้นจึงออกด้วยเพลงภาษา เพลงที่นิยมมักเป็นเพลงหน้าทับลาว

                       โดยปกติผู้บรรเลงสามารถนำเพลงเร็วมาเป็นออกไปได้เรื่อยๆ ตามความเหมาะสม วิธีการเช่นนี้เป็นการวัดความรู้ความสามารถของผู้บรรเลงทั้งด้านฝีมือ และด้านความรู้ของผู้บรรเลงว่าร่ำเรียนดนตรีมากน้อยเพียงใด  วงปี่พาทย์ตามพื้นบ้านจะใช้กลองทัดตีแทนกลองมลายูซึ่งอาจเรียกว่า 'วงประโคม"

               2. วงเครื่องสาย  เป็นวงดนตรีไทยที่ใช้เครื่องดำเนินทำนองประเภทเครื่องสายเป็นหลัก  ได้แก่ ซอด้วง ซออู้ และจะเข้ เครื่องดำเนินทำนองเพียงชนิดเดียวที่ไม่ใช้สายในวงเครื่องสาย คือ ขลุ่ยเพียงออ ส่วนเครื่องดนตรีกำกับจังหวะหน้าทับจะใช้โทนคู่กับรำมะนา และใช้ฉิ่งเป็นเครื่องกำกับจังหวะ วงเครื่องสายแบ่งออกเป็น 4 ชนิด ได้แก่ วงเครื่อสายเครื่องเดี่ยว  วงเครื่องสายเครื่องคู่ วงเครื่องสายผสม และวงเครื่องสายปี่ชวา
          









            จุดประสงค์ของการบรรเลงวงเครื่องสายส่วนใหญ่ใช้บรรเลงเพื่อขับกล่อมให็ผู้ฟังเกิดความเพลิดเพลิน บางโอกาสใช้บรรเลงประกอบพิธีมงคลต่างๆ เช่น งานมงคลสมรส  งานเลี้ยงฉลองหรือแสดงความยินดีในโอกาสต่างๆ เป็นต้น  ดังนั้น เทคนิคในการถ่ายทอดอามรมณ์เพลงจึงเน้นที่ ความไพเราะ อ่อนหวาน แนวการบรรเลงจะช้า ไม่โลดโผน ไม่กร้าวแกร่งเหมือนวงปี่พาทย์ ยกเว้น วงเครื่องสายปี่ชวาเพียงชนิดเดียวที่ใช้บรรเลงในงานศพ เสียงของเครื่องดนตรีดำเนินทำนองทุกชนิดในวงต้องเทียบให้เข้ากับเสียงของปี่ชวา ซึ่งมีเสียงสูงและแหลม แนวการบรรเลงของวงเครื่องสายปี่ชวาค่อนข้างเร็วและกร่าวกว่า ไม่เน้นความเพลิดเพลิน อ่อนหวาน

               3. วงมโหรี   เป็นวงที่เกิดจากการนำเครื่องดนตรีดำเนินทำนองหลักของวงปี่พาทย์และวงเครื่องสายมาประสมกัน และตัวเครื่องดำเนินทำนองและเครื่องกำกับจังหวะหน้าทับที่มีเสียงดังออกไป เช่น ปี่ใน ตะโพน กลองทัด เป็นต้น เพื่อความกลมกลืนของเสียงที่เหมาะสม โดยวงมโหรีแบ่งออกเป็น 3 ขนาด คือ วงมโหรีเครื่องเดี่ยว  วงมโหรีเครื่องคู่ และวงมโหรีเครื่องใหญ่









             จุดประสงค์ของการบรรเลงวงมโหรีเหมือนกับวงเครื่องสาย คือ บรรเลงเพื่อขับกล่อมให้ผู้ฟังเกิดความเพลิดเพลิน ดังนั้น เทคนิคในการถ่ายทอดอารมณ์เพลงจึงเหมือนกับวงเครื่องสาย คือ เน้นที่ความไพเราะ อ่อนหวาน แนวการบรรเลงจะช้า ไม่โลดโผน ไม่กร้าวแกร่ง 
             ทั้งนี้ในการบรรเลงรวมวงทุกรูปแบบ ผู้บรรเลงจะต้องตรวจสอบความพร้อมของเครื่อดนตรีอยู่้เสมอ ต้องรู้จักหน้าที่ของเครื่องดนตรีที่ตนบรรเลง ไม่ก้าวก่ายหน้าที่ของเครื่องดนตรีอื่น  ทุกคนต้องขยัน หมั่นฝึกซ้อมร่วมกัน เพื่อให้การบรรเลงพร้อมเพรียง ไพเราะ น่าฟัง และไม่ผิดพลาด

                        
              

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บุคคลสำคัญในวงการนาฏศิลป์

เครื่องหมาย และสัญลักษณ์ในดนตรีสากล

วิวัฒนาการของดนตรีไทยในแต่ละยุคสมัย (สมัยรัตนโกสินธ์)