ศ33102 รูปแบบการขับร้องเพลงไทย

         การขับร้อง  คือ การเปล่งเสียงออกมาเป็นเสียง สูง-ต่ำ  สั้น-ยาว ตามทำนอง  จังหวะ และบทร้องที่ผู้ประพันธ์ได้เรียบเรียงหรือกำหนดไว้  ซึ่งรูปแบบการขับร้องเพลงไทย แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ การร้อง  การขับเสภา และการพากย์  โดยการขับร้องเพลงไทยแต่ละประเภทจะมีเทคนิคในการถ่ายทอดอารมณ์ที่คล้ายคลึงกันหรือแตกต่างกัน ดังนี้
        1. การร้อง
         การร้องแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ คือการร้องอิสระไม่มีดนตรีประกอบ  การร้องส่งให้ดนตรีรับและการร้องประกอบการแสดง
         1.1 การร้องอิสระ  คือการโดยทั่วไป ที่ไม่มีดนตรีบรรเลงหรือบรรเลงประกอบแต่อย่างใด ผู้ขับร้องสามารถร้องได้ตามใจชอบ จะยึดเสียงมาตรฐานของเครื่องดนตรีหรือไม่ก็ได้ แต่ต้องรักษาระดับเสียงของตนเอง ให้ถูกต้อง เครื่องดนตรีที่ใช้เป็นเพียงเครื่องประกอบจังหวะ เช่น ฉิ่ง กรับ เป็นต้น  เทคนิคในการถ่ายทอดอารมณ์เพลงขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้ขับร้องว่าต้องการร้องให้ สูง-ต่ำ เร็ว-ช้า เพียงใด

         1.2 การร้องส่ง หมายถึง การร้องส่งให้วงดนตรีรับเป็นการขับร้องสลับกับการบรรเลงดนตรี ใช้กับวงดนตรีไทยได้ทุกประเภท การขับร้องลักษณะนี้ผู้ขับร้องต้องขับร้องไปจนเกือบจะจบท่อนเพลง  แล้วดนตรีจึงบรรเลงสวมรับและบบรเลงไปจนจบท่อนเพลง ถ้ามีการขับร้องเพลงในท่อนต่อไป ดนตรีบรรเลงส่งเพื่อเป็นแนวทางให้คนร้องได้ร้องเพลงในท่อนต่อไปได้โดยไม่ผิดระดับเสียงหรือเสียงไม่เพี้ยน และเมื่อร้องจนเกือบจบบรรเลงทำนองเพลงให้เร็วขึ้นก่อนจะจบเพลง เพลงประเภทร้องรับ ได้แก่ เพลงเถา เพลงสามชั้น และเพลงสองชั้นทั่วๆไป เช่น เพลงราตรีประดับดาวเถา เพลงบุหลันเถา เป็นต้น  เทคนิคในการถ่ายทอดอารมณ์เพลงต้องเน้นระดับเสียง  ความถูกต้องตรงกับเสียงดนตรี  จังหวะและทำนองต้องถูกต้อง ดังนั้นผู้ขับร้องต้องมีปฏิภาณและโสตประสาทไว สามารถแก้ไขหรือปรับเสียงให้ตรงกับเสียงดนตรี และสอดแทรกความรู้สึกลงในบทเพลงได้อย่างเหมาะสม

        1.3 การร้องประกอบการแสดง  คือ การร้องร้องประกอบท่ารำ เป็นการแสดงละคร หรือ รีวิวที่เป็นชุดเป็นตอนก็ได้  การร้องประเภทนี้จะต้องเน้นในเรื่องการใส่อารมณ์ จังหวะช้า หรือ เร็วขึ้นอยู่กับผู้แสดงเป็นสำคัญ  ผู้ขับร้องต้องเรียนรู้เกี่ยวกับลีลา ท่าทางของผู็แสดง ตลอดจนอารมณ์เพลง จึงจะสามารถขับร้องสอดแทรกอารมณ์ประกอบกิริยาอาการของผู้แสดงได้อย่างเหมาะสม และช่วยให้ผู้ชมได้รับอรรถรสครบถ้วน  เช่น การขับร้องประกอบการแสดงโขน  หุ่นกระบอก หนังใหญ่ ละคร ระบำ ฟ้อนต่างๆ เป็นต้น  นอกจากผู้ขับร้องต้องเรียนรู็ถึงท่าทางของผู้แสดงแล้ว ยังจะต้องระวังเกี่ยวกับทำนองเพลง และจังหวะให้สอดรับกับท่ารำ ไม่ควรร้องช้าหรือเร็วกว่าท่ารำ ควรร้องให้ได้จังหวะที่ลงตัวเหมาะพอดี     

        2.การขับเสภา
         การขับเสภา  จัดเป็นการขับร้องเพลงไทยรูปแบบหนึ่ง  บทเสภานิยมประพันธ์ด้วยกลอนแปด  ใช้ในการดำเนินเรื่องอย่างรวดเร็ว  เพราะมีการเอื้อนสอดแทรกเพียงเล็กน้อย ในการขับเสภาผู้ขับจะเป็นผู้ตีกรับเสภา 2 คู่ (ถือมือละ 1 คู่) ประกอบ  จะไม่ใช้วงดนตรีบรรเลงประกอบขณะขับเสภา   เทคนิคการถ่ายทอดอารมณ์ในการขับเสภา ผู้ขับต้องมีปฏิภาณ  ไหวพริบ  ขับให้เสียงและคำต่อเนื่องกัน ถ้าเป็นการขับเสภาประกอบการแสดงผู้ขับต้องคำนึงลีลาท่าทางของผู้แสดง  โดยขับให้คำกระชับหรือยึดให้สอดรับพอเหมาะกับท่าทางของผู้แสดงและสอดคล้องกับเนื้อเรื่องเพื่อให้ผู้ชมคล้อยตาม  โดยบทละครที่นิยมนำมาขับเสภา  คือ บทละครนอก  เรื่องขุนช้างขุนแผน

         3.การพากย์ 
         การพากย์ จัดเป็นรูปแบบหนึ่งของการขับร้อง  นิยมพากย์ประกอบการแสดงโขน  บทที่ใช้สำหรับพากย์เป็นคำประพันธ์กาพย์ ได้แก่ กาพย์ยานี 11 และกาพย์ฉบัง 16  การพากย์จะไม่ใช้เครื่องกำกับจังหวะขณะพากย์ แต่จะใช้ตะโพนและกลองทัดตีรับ   การพากย์โดยทั่วไปใช้สำหรับดำเนินเรื่อง  แบ่งเป็น พากย์บรรยากาศหรือพากย์เบ็ดเตล็ด พากย์เมืองหรือพากย์พลับพลา  พากย์ชมดง พากย์โอ้และพากย์รถ  ซึ่งแต่ละชนิดจะมีเทคนิคในการถ่ายทอดอารมณ์คล้ายคลึงหรือแตกต่างกัน ดังนี้
       3.1 พากย์บรรยายหรือพากย์เบ็ดเตล็ด  เป็นการบรรยายความเป็นมาของเนื้อเรื่อง หรือกล่าวถึงเหตุการณ์ทั่วๆไป เช่น ใครทำอะไร  ที่ไหน  อย่างไร เป็นต้น เทคนิคในการถ่ายทอดอารมณ์ของการพากย์บรรยายหรือพากย์เบ็ดเตล็ด คือ ผู้พากย์ต้องใช้เสียงพากย์เน้นตรงเหตุการณ์สำคัญๆที่ปรากฏตามท้องเรื่อง หรือเน้นตรงถ้อยคำของตัวละครที่กล่าวอ้างถึงในเรื่อง เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจเนื้อเรื่องได้ดียิ่งขึ้น  บางครั้งอาจต้องสอดแทรกอารมณ์บ้างในกรณีที่กล่าวถึงคำพูดของตัวละครในอารมณ์ต่างๆ เช่น โกรธ เศร้า อาลัย  รัก เป็นต้น

      3.2 พากย์เมืองหรือพากย์พลับพลา  ใช้พากย์เวลาตัวละครเอกของเรื่อง เช่น พระราม  พระลักษณ์  นางสีดา  ทศกัณฐ์ เสด็จออกท้องพระโรงหรือพลับพลา  เทคนิคในการถ่ายทอดอารมณ์อยู่ที่การพากย์บรรยายให้ผู้ชมเข้าใจในรายละเอียดของสิ่งที่ปรากฏได้  แม้ฉากประกอบจะไม่สวยงามตามบทพากย์ก็ตาม

      3.3 พากย์ชมดง  ใช้สำหรับพากย์ชมป่าเขาลำเนาไพร  ทำนองตอนต้นใช้เพลงชมดงใน จบท้ายด้วยพากย์ธรรมดา  เทคนิคในการถ่ายทอดอารมณ์อยู่ที่การใช้เสียงและคำ  ทำให้ผู้ดูเห็นภาพความงามของป่าหรือธรรมชาติได้เป็นอย่างดี

      3.4 พากย์โอ้ ใช้พากย์ประกอบกิริยาโศกเศร้า  อาลัย คร่ำครวญ การพากย์ชนิดนี้แตกต่างจากพากย์ชนิดอื่น  เพราะตอนท้อายแต่ละช่วงจะร้องทำนองเพลงโอ้ปี่  มีดนตรีรับ ก่อนที่ลูกคู่จะรับพร้อมกันว่า  เพ้ย เทคนิคในการถ่ายทอดอามรมณ์ของกาพากย์โอ้ขึ้นอยู่กับการสอดแทรกอารมณ์ขณะพากย์  เพื่อให้ผู้ชมได้เกิดอรรถรสคล้อยตาม

     3.5 พากย์รถ  ใช้สำหรับพากย์ชมขบวนตรวจพลหรือขบวนทัพ โดยอาจจะทรงราชรถ  ช้าง  หรือม้าก็ได้อ  เทคนิคในการถ่ายทอดอามรมณ์ของการพากย์รถ  คือ เน้นความคึกคัก สง่างาม  ดังนั้น ผู้พากย์จึงต้องออกเสียงคำให้กระชับชัดเจน เพื่อให้ผู้ชมเกิดความฮึกเหิมและคึกคักตามไปด้วย














WINKWHITE

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บุคคลสำคัญในวงการนาฏศิลป์

การอนุรักษ์นาฏศิลป์ไทย

เครื่องหมาย และสัญลักษณ์ในดนตรีสากล