ศ33102 ดนตรีสากลกับสังคมไทย

            ดนตรีสากลเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติตะวันตก  มีแบบแผนที่ยอมรับของนานาชาติ  ในระยะเริ่มแรกมีการนำดนตรีสากลมาใช้ในกิจกรรมทางศาสนา  เพื่อสร้างความศรัทธา  ความเชื่อในพระผู้เป็นเจ้า  ก่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจกันในหมู่ศาสนิกชน  ต่อมาดนตรีสากลถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันของคนในสังคมไทยและสังคมโลกมากขึ้น
            1. ค่านิยมของสังคมไทยต่อดนตรีสากล
             คำว่า "ค่านิยม" นักปราชญ์ไทยเอามาจากคำภาษาอังกฤษว่า "value" หมายถึง ความนิยมชมชอบ การยกย่องนับถือและสรรเสริญในคุณประโยชน์ที่สังคมหรือกลุ่มคนโดยรวมเห็นพ้องต้องกัน  ซึ่งสังคมไทยมีค่านิยมต่อดนตรีสากล 3 ประการดังนี้
            1.1 ค่านิยมดนตรีสากลในพิธีกรรม   ค่านิยมการนำดนตรีสากลมาใช้ในพิธีกรรมของคนไทยเกิดจากการที่คนไทยได้ปฏิสัมพันธ์กับชาวต่างชาติที่เป็นศาสนิกชนของศาสนาต่างๆ โดยเฉพาะศานาคริสต์ คนไทยได้เรียนรู้และได้เห็นการจัดพิธีกรรมและพิธีการอันศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาเหล่านั้นด้วยการเอาเครื่องดนตรีสากลและการขับร้องมาเป็นส่วนสำคัญของพิธีกรรม การได้เรียนรู้และได้ร่วมพิธีนั่นเอง ทำให้สังคมไทยค่อยๆ ซึมซับและซาบซึ้งในความสำคัญของดนตรีสากลที่มีต่อพิธีกรรมจนเกิดเป็นค่านิยม  ตัวอย่างเช่น  โบสถ์ซินนากอก (Synagogue) ของชาวยิว  สอนว่าการนับถือศาสนาต้องปฏิบัติให้ครบ 4 อย่าง คือ ต้องเรียนรู้ธรรมจริยา ต้องจัดพิธีกรรม ต้องมีการเฉลิมฉลอง และ ต้องขับร้องเพลงสวดสรรเสริญ  ซึ่งอาจมีหรือไม่มีเครื่องดนตรีบรรเลงสนับสนุนก็ได้ ขึ้นอยู่กับสภาวะทางการเมืองและการปกครอง  โบสถ์คาทอลิก ของชาวคริสต์ ก็ได้วัฒนธรรมการใช้เพลงและดนตรีประกอบพิธีกรรมต่างๆ ในโบสถ์เช่นเดียวกับชาวยิว โดยในสมัย เซนต์พอล  ใช้เพลงสากลสรรเสริญแบบชาวยิว  ถึงสมัยเซนต์ออกุสไทน์ จึงได้แต่งเพลงขึ้นมาใหม่ โดยเน้นให้มีสาระเกี่ยวกับคำสอนและประวัติตามพระคำภีร์ให้งดเว้นการใช้เพลงที่อาจชักนำจิตใตศาสนิกชนให้ตกต่ำ เพราะมีค่านิยมว่า ดนตรีเป็นเครื่องยกระดับจิตใจของผู้คนให้สูงขึ้น เป็นต้น
           ด้วยเหตุนี้คนในสังคมจึงได้เรียนรู้และพบเห็นการใช้ดนตรีในพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ดังที่ได้อธิบายมาข้างต้น  จนทำให้เกิดค่านิยมในการนำเอาเครื่องดนตรีสากลมาใช้ในพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ของคนไทยเราบ้าง  ตัวอย่างเช่น การนำเอาแตรฝรั่งมาใช้เป่าประสมวงกับหอยสังข์และหมู่กลองชนะ ในพิธีการคำนับรับเสด็จพระมหากษัตริย์ และพิธีประโคมในงานพระบรมศพ  การใช้วงโยธวาทิตบรรเลงคำนับรับเสด็จพระมหากษัตริย์ บรรเลงในพิธีเอาฤกษืเอาชัย บรรเลงนำขบวนแห่อันศักดิ์สิทธิ์ นำหน้าแถวทหาร เป็นต้น


         1.2 ค่านิยมดนตรีสากลเพื่อความบันเทิง ดนตรีสากลเพื่อความบันเทิงได้เผยแพร่เข้าสู่สังคมไทยผ่านทางสื่อต่างๆ  เช่น โทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง  ภาพยนต์ และในปัจจุบันยังผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่คนในสังคมสามารถเข้าถึงได้ในเวลาอันรวดเร็ว  คนในสังคมไทยจึงมีโอกาสบริโภคความบันเทิงของดนตรีสากลผ่านสื่อต่างๆ ดังกล่าวโดยง่ายและเมื่อได้ยินได้ฟังได้ดูซ้ำหลายหนก็เกิดความนิยมชมชอบไปเองโยธรรมชาติ
          อีกประการหนึ่งคือ องค์ประกอบของดนตรีไม่ว่าจะเป็นดนตรีของชาติใดก็ตามล้วนประกอบด้วย จังหวะ  ทำนอง บทร้อง (ถ้ามี) เสียงประสาน และลีลาสอดประสานเช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงมิใช่เรื่องยากที่คนในสังคมไทยจะมีความนิยมชมชอบดนตรีสากล อีกทั้งในปัจจุบันคนในสังคมไทยจะได้ยิน  ได้ฟัง และได้ชมดนตรีสากลอยู่เป็นประจำ  จนทำให้ค่านิยมด้านความบันเทิงของคนในสังคมไทยที่มีต่อดนตรีสากลทวีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ





         1.3 ค่านิยมดนตรีสากลในด้านการเมืองการปกครอง  นักปราชญ์และนักปกครองได้ค้นพบและใช้ดนตรีสากลเป็นสื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นของชาติ ตัวอย่างเช่น รัฐบุรุษกรีกชื่อว่า  "โซโลน" ได้กล่าวไว้ว่า "ดนตรีสามารถสร้างสรรค์พลเมืองดี  เหนี่ยวโน้มให้ประชาชนภักดีต่อรัฐและทำให้รัฐเป็นปึกแผ่นมั่นคง" แต่ดนตรีจะทำเช่นนั้นได้ต้องเป็นดนตรีที่ดี หมายความว่าเป็นดนตรีที่แต่งตามหลักไวยกรณ์  มีบทร้องที่เสนาะด้วยคำสัมผัสคล้องจอง  มีเนื้อหาพึงประสงค์ และมีกระบวนแบบของจังหวะที่เหมาะสม ดังนั้น ณัฐกรีกในสมัยนั้นจึงควบคุมแบบแผนของดนตรีที่จะแสดงต่อสาธารณชน คือให้ใช้เฉพาะดนตรีที่ชี้นำให้มวลชนมีความจงรักภักดีต่อรัฐและปรพฤติดี ประพฤติชอบเป็นสำคัญ  ส่วนดนตรีที่จะชี้นำให้ประชาชนมีแนวคิดต่อต้านรัฐหรือชี้นำให้ประพฤติไปทางต่ำเป็นสิ่งต้องห้าม
          ต่อมาชนทุกชาติในสากลโลกจึงมีเพลงชาติ  เพื่อแสดงออกถึงความเป็นชาติทั้งสิ้น และหากชาติใดมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขก็จะมีเพลงคำนับรับเสด็จ เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี  ชาติไทยเองก็มีทั้ง "เพลงชาติไทย" และ "เพลงสรรเสริญพระบารมี" เพื่อแสดงออกถึงความเป็นไทยและถวายความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์และมี "เพลงปลุกใจ" ที่แต่งขึ้นเพื่อปลุกเร้าจิตใจของคนในสังคมไทยให้รวมใจกันเป็นหนึ่ง และเนื่องจากเพลงดังกล่าวล้วนแต่งขึ้นตามหลักไวยากรณ์ดนตรีสากล  กับทั้ง
เพลงต้นแบบล้วนใช้วงดนตรีสากลบรรเลงและบันทึกเสียงออกเผยแพร่สู่ประชาชนไทย ดนตรีสากลจึงเข้ามามีบทบาทในค่านิยมด้านการเมืองการปกครองของสังคมไทยด้วย


          2.ความเชื่อของสังคมไทยต่อดนตรีสากล 
          คำว่า "ความเชื่อ"  ในที่นี้หมายถึง การยอมรับว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งดี   มีคุณประโยชน์หรือมีอยู่จริง ซึ่งความเชื่อนั้นอาจเกิดจากประสบการณ์ตรง หรือเกิดจากการไตร่ตรองและการอนุมานโดยอาศัยความรู้อีกอย่างหนึ่งที่เรียนรู้มาแล้ว
          คนในสังคมไทยมีวัฒนธรรมความเชื่อเกี่ยวกับดนตรีเป็นจำนวนมาก เช่น ความเชื่อเกี่ยวกับความขลังของเสียงดนตรี ความเชื่อว่าเครื่องดนตรีเป็นของสูง การเคารพศรัทธาครูดนตรี  การกำหนดเพลงหน้าพาทย์ต่างๆ ขึ้น  เพื่อใช้บรรเลงในพระราชพิธีของราชสำนัก เช่น ใช้เพลงสาธุการบรรเลงอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ใช้เพลงองค์พระพิราพบรรเลงในพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น
          ดังนั้น เมื่อวัฒนธรรมความเชื่อเกี่ยวกับการใช้ดนตรีสากลประกอบในพิธีศักดิ์สิทธิ์และพิธีการอันเคร่งครัดเผยแพร่เข้ามาในสังคมไทย  คนในสังคมสังคมไทยจึงยอมรับได้  ยิ่งทั้งฝ่ายพระราชพิธีและฝ่ายรัฐพิธีนำมาใช้ให้ประชาชนเห็นเป็นประจักษ์ก่อน ประชาชนผู้อยู่ในความปกครองก็ยิ่งมีความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์และความเกรียงไกรของดนตรีสากลนั้น เช่น การบรรเลงเพลงมหาฤกษ์  เพลงมหาชัยในงานพิธีการต่างๆ
         ความเชื่ออีกด้านหนึ่งของคนไทยที่มีต่อดนตรีสากล คือ ความเชื่อด้านการใช้ความรู้และทักษะด้านดนตรีสากลประกอบเป็นวิชาชีพได้   คนไทยยุคเก่าเคยดูแคลนว่าการประกอบอาชีพด้านการแสดงดนตรีเป็นอาชีพที่ต้อยต่ำ   เนื่องจากมีรายได้น้อยและไม่จีรังยั่งยืน  จึงมีความเชื่อว่าอาชีพนักดนตรี  นักร้อง และนักแสดง เป็นอาชีพเต้นกินรำกินแบบหาเช้ากินค่ำ ไม่อาจพัฒนาให้มีรายได้เลี้ยงดูครอบครัวได้  แต่ในสมัยปัจจุบันนี้การศึกษาวิชาการดนตรีก้าวไกลสู่ระดับสากล ทำให้คนไทยเป็นนักวิชาการดนตรีสากล นักดนตรีสากล  นักร้องเพลงสากล ตลอดจนวาทยากรวงดนตรีระดับวิชาชีพจำนวนมาก และหลายคนพัฒนาตนไปสู่ระดับโลก  นอกจากนี้ บางท่านก็ได้รับการยกย่องจากมวลชนและองค์กรต่างๆใ้เป็นศิลปินแห่งชาติหรือศิลปินแห่งโลก ตัวอย่างเช่น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งทรงมีพระปรีชาสามารถด้านดนตรีสากลระดับเอกอัครศิลปิน  โดยพระองค์ได้รับการทูลกระหม่อมถวายพระเกียรติคุณจากรัฐบาลประเทศออสเตรีย โดยสถาบันการดนตรีและศิลปะแห่งกรุงเวียนนา  ให้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์หมายเลข 23 ลงวันที่ 24 เดือนกันยายน พ.ศ.2507 พร้อมกับได้รับการบันทึกพระนามลงบนแผ่นศิลาแห่งเกียรติคุณ ณ สถาบันแห่งนั้นด้วย  เป็นต้น










WINKWHITE

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บุคคลสำคัญในวงการนาฏศิลป์

การอนุรักษ์นาฏศิลป์ไทย

เครื่องหมาย และสัญลักษณ์ในดนตรีสากล