หลักการและวิธีการจัดแสดงดนตรีไทยในวาระต่างๆ
หลักการจัดแสดงดนตรีไทย
การบรรเลงดนตรีไทยมีบทบาทต่อสังคมและวัฒนธรรมไทยในหลายลักษณะ ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงลักษณะการจัดแสดงดนตรีไทยที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ดังต่อไปนี้
๑) การจัดแสดงดนตรีไทยเพื่อประกอบพิธีกรรม เป็นสารเสริมสร้างงานให้บังเกิดความสมบูรณ์ เพราะความหมายของดนตรีพิธีกรรมนั้นมีขั้นตอนและขนบธรรมเนียมปฏิบัติต่อกันมา เช่น การบรรเลงเพลงโหมโรง เพื่อบูชาพระรัตนตรัยและอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธฺ์ให้มาอำนวยพรแก่พิธีที่กำหนดขึ้น ในขณะเดียวกันก็เป็นการประกาศให้รับรู้ว่างานที่กำหนดจัดได้เริ่้มต้นแล้วเป็นต้น การบรรเลงดนตรีพิธีกรรมพบได้ในงานบุญ งานพิธีกรรมต่างๆ ที่วัด บุคคล หรือหน่วยงานต่างๆจัดขึ้น นอกจากนี้ ก็มีงานพิธีไหว้ครู พิธีทำขวัญนาค เป็นต้น
๒) การจัดแสดงดนตรีไทยเพื่อประกอบการแสดง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับรูปแบบของการแสดง เช่น ละครใน ละครนอก หุ่นกระบอก ลิเก ละครแนวประยุกต์ เป็นต้น เพราะเพลงที่ใช้ในการแสดงแต่ละประเภทจะมีลักษณะของเพลงที่แตกต่างกัน เช่น ระบบทางนอก ทางใน การประสมวง การเลือกเพลงหน้าพาทย์ เป็นต้น
๓) การจัดแสดงดนตรีไทยเพื่อการแข่งขัน มีทั้งที่เป็นการแข่งขันในรูปแบบของวงดนตรี หรือบรรเลงเดี่ยวเครื่องดนตรี วิธีการบรรเลง หรรือการขับร้องในลักษณะนี้มีความจริงจังในด้านของเพลง บังคับตามกติกา เพลงที่เลือกมาบรรเลงจึงมีข้อจำกัด ผู้เข้าประกวดแข่งขันประชันความสามารถจึงมุ่งพัฒนาฝีมือการบรรเลงและการขับร้อง เพื่อแสดงความเป็นเลิศในทักษะทางดนตรี
ดังนั้น เมื่อเข้าสู่สนามการแข่งขัน นักดนตรีจึงต้องบรรเลงให้เป็นไปตามกฎกติกาและหลักวิชาการดนตรีไทยให้มากที่สุด เพราะการบรรเลงในลักษณะนี้จะคณะกรรมการเป็นผู้พิจารณาตัดสินล
๔) การจัดแสดงดนตรีไทยเพื่อความรื่นรมย์ใจ เป็นการแสดงดนตรีไทยเพื่อการฟัง การจัดแสดงดนตรีไทยในลกษณะนี้มีทั้งการบรรเลงดนตรีและนำการแสดงมาประกอบ เพื่อให้ผู้ฟังรื่นรมย์ใจด้วยเสียงเพลงและกิจกรรมเคลื่อนไหว เช่น การบรรเลงประกอบการแสดงชุดระบำ รำ ฟ้อน เป็นต้น บางแห่งอาจจัดให้มีการบรรเลงดนตรีพร้อมๆกับการวาดภาพประกอบเพลง เพลงที่นิยมนำมาเสนอในลักษณะนี้ เช่น เพลงเขมรไทรโยค เพลงลาวดวงเดือน เพลงบุหลันลอยเลื่อน เพลงลวเสี่ยงเทียน เพลงคลื่นกระทบฝั่ง เป็นต้น
ส่วนการจัดการแสดงดนตรีไทยที่มุ่งเป้าหมายไปที่การบรรเลงและการขับร้องของศิลปินโดยตรง ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยในราชสำนักมีการบรรเลงมโหรีเพื่อถวายพระมหากษัตริย์ มีการแสดงดนตรีไทยซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในหมู่ของขุนนาง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ดังปรากฏในรูปแบบของการบรรเลงมโหรี มีบทมโหรีที่บันทึกไว้เป็นจำนวนมาก ในแต่ละบทมีชื่อเพลงกำกับไว้ การฟังเพลงได้พัฒนามาสู่การบรรเลงวงปี่พาทย์เสภา โดยวงปี่พาทย์ของแต่ละวงที่มีผู้อุปถัมภ์ไปจนกระทั่งการบรรเลงเพื่อการแข่งขัน
นอกจากนี้ ยังมีการแสดงดนตรีที่จัดขึ้นเพื่อให้ผู้ฟังทั่วไปเข้าไปนั่งฟังได้อีกด้วย ในปัจจุบันได้มีการนำดนตรีไทยไปแสดงตามสถานที่ต่างๆ อย่างมากมาย เช่น การแสดงที่โรงละครแห่งชาติ หอประชุมศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย หอประชุมจังหวัด หอประชุมของสถานศึกษา การแสดงดนตรีเพื่อต้อนรบแขกผู้มาเยือน ตั้งแต่ระดับประเทศไปจนถึงระดับประชาชน เป็นต้น รวมทั้งมีการนำการแสดงดนตรีมาออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ หรือกระจายเสียงผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตด้วย ลักษณะเช่นนี้จึงส่งผลให้การเผยแพร่ดนตรีไทยดำเนินไปอย่างมีเป้าหมายมากยิ่งขึ้น
วิธีการจัดแสดงดนตรีไทยในวาระต่างๆ
๑) การเลือกวงดนตรี ในการจัดการบรรเลง หรือการจัดการแสดงดนตรีไทย ผู้จัดกสนแสดงควรคำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการจัดการแสดงว่ามีวัตถุประสงค์ใด ในพิธี หรือ พระราชพิธีนั้นจำเป็นต้องใช้ดนตรีประกอบหรือไม่ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีไทยได้ระบุุหลักเกณฑ์ในการเลือกพิจารณาวงดนตรีไทยเพื่อใช้ในวาระต่างๆ ซึ่งยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา ดังต่อไปนี้
หลักการเลือกวงดนตรี
๑.๑ การจัดแสดงดนตรีไทยในพิธี หรือพระราชพิธี ทั้งที่เกี่ยวข้องกับพระสงฆ์และที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพระสงฆ์ เช่น พิธีไหว้ครู พิธีทอดกฐิน พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พิธีอุปสมบท เป็นต้น ให้เลือกใช้วงปี่พาทย์ไม้แข็งเครื่องห้า วงปี่พาทย์ไม้แข็งเครื่องคู่ หรือ วงปี่พาทย์ไม้แข็งเครื่องใหญ่ แล้วแต่ความเหมาะสมของงาน
๑.๒ การจัดแสดงดนตรีไทยเพื่อขับกล่อมในงานพิธีมงคล เช่น งานวันเกิด งานมงคลสมรส งานเลี้ยงฉลอง หรือแสดงความยินดีในโอกาสต่างๆ เป็นต้น ให้เลือกใช้วงเครื่องสายไทย วงมโหรีบรรเลง ส่วนงานอวมบงคล เช่น งานฌาปนกิจศพ งานพระราชทานเพลิงศพ เป็นต้น ให้เลือกใช้วงปี่พาทย์นางหงส์ วงปี่พาทย์มอญ วงเครื่องสายปี่ชวา หรือวงบัวลอยบรรเลง เป็นต้น
๑.๓ การจัดแสดงดนตรีไทยประกอบการแสดง เช่น โขน หนังใหญ่ เป็นต้น ให้เลือกใช้วงปี่พาทย์ไม้แข็งมาบรรเลง หากบรรเลงประกอบการแสดงละครใน ละครนอก หุ่นกระบอก ระบำเบ็ดเตล็ดต่างๆ ให้เลือกใช้วงปี่พาทย์ไม้นวมมาบรรเลง และหากเป็นการบรรเลงประกอบการแสดงนาฏศิลป์พื้นเมือง ให้เลือกใช้วงดนตรีพื้นเมืองของภาคนั้นๆ มาบรรเลงประกอบการแสดง
ทั้งนี้ การจัดการแสดงดนตรีจะเลือกใช้วงใดให้พิจารณาจากความเหมาะสมของสถานที่ ผู้ฟัง ผู้บรรเลง และเหตุการณ์เป็นสำคัญ
๒) การเลือกบทเพลง ในการบรรเลง หรือการแสดงดนตรีไทยในโอกาสต่างๆ นอกจากจะพิจารณาวงดนตรีให้ถูกต้องเหมาะสมแล้ว ยังจำเป็นต้องเลือกสรรบทเพลงที่จะใช้บรรเลงให้ถูกต้องเหมาะสมด้วย
หลักการเลือกบทเพลง
๒.๑) การเลือกบทเพลงไทยมาประกอบในพิธี หรือ พระราชพิธี ที่เกี่ยวข้องกับพระสงฆ์ การบวงสรวงบูชาเทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ครูบาอาจารย์ นิยมใช้บทเพลงประเภทเพลงหน้าพาทย์ หรือเพลงเรื่องมาบรรเลง ทั้งนี้ จะขึ้นอยู่กับพิธีการ หรือ พระราชพิธีนั้นๆด้วย
๒.๒) การเลือกบทเพลงไทยมาประกอบการแสดง เช่น โขน ละคร ระบำชุดต่างๆ เป็นต้น เพลงที่จะใช้บรรเลงประกอบ ได้แก่ เพลงอัตราจังหวะสองชั้น เพลงอัตราจังหวะชั้นเดียว เพลงตับ และเพลงหน้าพาทย์ประกอบกิริยาต่างๆ ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กิริยาอาการและอารมณ์ของบทเพลง หากเป็นการบรรเลงประกอบการแสดงนาฏศิลป์พื้นมือง เพลงที่ใช้บรรเลงมักจะเป็นเพลงพื้นเมือง ที่มีจังหวะกระชับ เหมาะสมกับลีลาท่าทางของผู้ร่ายรำในแต่ละภาค
๒.๓) การเลือกบทเพลงไทยมาแสดงเพื่อความเพลิดเพลิน ส่วนใหญ่จะเลือกใช้เพลงประเภทเพลงโหมโรง ตามด้วยเพลงลักษณะต่างๆ ที่มีท่วงทำนอง ลีลา จังหวะที่ไพเราะ สนุกสนาน น่าฟัง และมักจบลงด้วยเพลงลา แต่หากเป็นการจัดการบรรเลงดนตรีไทยเพื่อคั่นระหว่างการแสดง เพลงที่ใช้บรรเลงอาจจะใช้เพลงประเภทเพลงอัตราจังหวะสองชั้น เพลงเกร็ด เพลงตับ หรือเพลงภาษาต่างๆ ทั้งนี้ จะขึ้นอยู่กับระยะเวลาการบรรเลงว่าต้องการให้มีระยะเวลาสั้น หรือยาวเพียงใด
๓) การเลือกและจัดเตรียมสถานที่ ในการเลือก หรือการจัดเตรียมสถานที่สำหรับจัดการแสดงดนตรี ควรพิจารณาองค์ประกอบต่างๆ ดังต่อไปนี้
หลักการเลือกและการจัดเตรียมสถานที่
๓.๑) การจัดแสดงดนตรีไทยในพิธี หรือพระราชพิธี ที่เกี่ยวข้องกับพระสงฆ์ และการบวงสรวงบูชาเทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ครูบาอาจารย์ สถานที่จัดแสดงควรอยู่ใกล้บริเวณที่ประกอบพิธี หรือ พระราชพิธี พื้นที่ต้องมีความกว้างขวางพอเหมาะกับขนาดของวงดนตรีที่ใช้บรรเลง และควรอยู่ในตำแหน่งที่ผู้ที่บรรเลงสามารถมองเห็นขั้นตอนการประกอบพิธี หรือพระราชพิธีได้อย่างชัดเจน เพื่อจะได้บรรเลงเพลงประกอบได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับขั้นตอนพิธี
๓.๒ การจัดแสดงดนตรีไทยเพื่อบรรเลงในงานมงคล ตำแหน่ง หรือสถานที่ที่จัดแสดงไม่ควรอยู่สูง หรือต่ำเกินไป แต่ควรอยู่ในจุดที่ผู้ฟังสามารถมองเห็นได้ยินเสียงการบรรเลงได้อย่างทั่วถึงและพื้นที่ต้องมีความกว้างขวางเหมาะสมกับขนาดของวงดนตรี หรือจำนวนผู้บรรเลงและผู้ขับร้อง
๓.๓) การจัดการแสดงดนตรีไทยประกอบการแสดง ไม่ว่าจะเป็นโขน ละคร ระบำชุดต่างๆ หรือ การแสดงนาฏศิลป์พื้นเมือง ตำแหน่งของวงดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดงควรอยู่ใกล้บริเวณที่ใช้แสดง อาจเป็นด้านข้างของเวที หรือลานแสดง และควรเป็นสถานที่ที่ผู้บรรเลง หรือผู้ขับร้องสามารถมองเห็นท่าทางและได้ยินเสียงของผู้แสดงอย่างชัดเจน เพื่อให้สามารถบรรเลงประกอบลีลาท่าทางได้อย่างสอดคล้องและเหมาะสม
๓.๔) การจัดแสดงดนตรีไทยเพื่อความเพลิดเพลิน โดยทั่วไปควรเลือกสถานที่ที่สะดวกกับการเดินทางทั้งของนักดนตรีและผู้ฟัง ทั้งนี้ ผู้ฟังจะต้องสามารถมองเห็นและได้ยินเสียงการบรรเลง หรือการร้องได้ชัดเจน พื้นที่ที่จัดการแสดงควรมีความกล้วางขวางเหมาะสมกับขนาดของวงดนตรีหรือจำนวนผู้บรรเลงและผู้ขับร้อง
ทั้งนี้ การจัดเตรียมสถานที่สำหรับวงดนตรีทุกชนิด ควรจัดเครื่องขยายเสียบงและแสงสว่างใ้เพียงพอกับการบรรเลงและการขับร้อง เพื่อให้ผู้ฟังสามารถฟังเสียงได้อย่างไพเราะทั่วถึง ชัดเจน และควรจัดเตรียมเสื่อ พรม โต๊ะ และเก้าอี้ สำหรับวางเครื่องดนตรีและให้นักดนตรีได้นั่งอย่างสะดวกสบาย เพียงพอกับจำนวนผู้บรรเลงแลผู้ขับร้อง เพื่อที่จะได้สามารถบรรเลงหรือขับร้องได้อย่างสะดวก
๔) การเตรียมบุคลากร ก่อนการบรรเลง หรือจัดการแสดงดนตรีไทยในแต่ละครั้ง การเตรียมบุคลากรนับว่ามีความสำคัญมาก เพราะการบรรเลงจะประสบความสำเร็จ ได้รับความพึงพอใจจากผู้ฟัง หรือผู้ชมนั้นจำเป็รต้องมีการเตรียมบุคลากรในด้านต่างๆให้พร้อม โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมของบุคลากรอันเป็นสิ่งจำเป็นที่สุด เพราะการแสดงดนตรีเป็นการทำงานกลุ่ม ทุกคในวงดนตรีมีความสำคัญเสมอกันจะขาดคนใดคนหนึ่งไม่ได้ ดังนั้น ทุกคนในวงดนตรีจึงต้องใส่ใจ สร้างความพร้อมให้กับกลุ่มด้วยการมีวินัยในตนเอง
๕) การเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือ ก่อนการบรรเลง หรือการแสดงทุกครั้ง ผู้บรรเลงควรตรวจสอบสภาพของเครื่องดนตรีที่ตนจะใช้บรรเลงว่ามีความพร้อมเพียงใด มีสิงใดบกพร่องเสียหาย หรือใกล้จะหมดสภาพหรือไม่ เมื่อตรวจสอบและพบบกพร่องใด ต้องรีบจัดการแก้ไข ปรับแต่ง หรือเปลี่ยนให้มีสภาพสมบูรณ์ ครบถ้วน พร้อมใช้ และมีคุณภาพเสียงที่สมบูรณ์ ครบถ้วน พร้อมใช้ และมีคุณภาพเสียงที่สมบูรณ์อยู่เสมอ
๖) การจัดรายการแสดง เป็นการกำหนดลำดับการบรรเลงดนตรีในแต่ละครั้งให้เป็นไปตามจุดประสงค์ที่ผู้จัดการแสดงต้องการ ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการบรรเลงดนตรีต้องพิจารณาจัดเตรียมบทเพลงที่จะใช้บรรเลง หรือขับร้องให้เหมาะสมกับลำดับขั้นตอนของพิธี หรือ พระราชพิธีอย่างเคร่งครัด เว้นแต่การบรรเลง หรือการแสดงดนตรีเพื่อความเพลิดเพลิน อาจจัดรายการบรรเลง หรือการขับร้องสลับตามความพอใจ หรือเหมาะสมกับวัยของผู้ชมและผู้ฟังได้
WINKWHITE
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น