ศิลปะประยุกต์ (applied art)

      ศิลปะประยุกต์  (applied art)   หมายถึง  งานทัศนศิลป์ที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงความงามร่วมกับประโยชน์ใช้สอย  โดยใช้หลักทฤษฎีของทัศนศิลป์แขนงต่างๆ  เพื่อให้ผลงานสอดประสานกลมกลืนเข้ากับวิถีชีวิตประจำวัน  จนเกิดความพอดีทั้งในด้านคุณภาพและความสวยงามควบคู่กันไป

   การสร้างสรรค์ผลงานในลักษณะนี้ผู้บริโภคคือโจทย์สำคัญในการสร้างสรรค์  เนื่องจากตัวผลงานจะต้องเป็นที่พึงพอใจของผู้บริโภค  ซึ่งศิลปินต้องมีความเชี่ยวชาญในทางทฤษฎีและการปฏิบัติผลงาน  จึงจะผนวกเอาความงามทางทัศนศิลป์และจุดประสงค์ในผลงานให้เป็นหนึ่งเดียวกัน  ผลงานในลักษณะนี้สามารถซื้อขายกันอย่างถูกต้องเป็นธุรกิจศิลป์  สร้างอาชีพได้อย่างมั่นคง

    ผลงานศิลปะประยุกต์แบ่งเป็น ๔ ประเภท  ดังนี้

    ๑) มัณฑนศิลป์  (decorative art)  หมายถึง งานทัศนศิลป์ที่เกี่ยวข้องกับการตกแต่งภายในและภายนอกอาคาร  ให้เกิดความสวยงามควบคู่กับประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น  มัณฑนศิลป์ เป็นส่วนหนึ่งของงานสถาปัตยกรรม  ช่วยส่งเสริมให้งานก่อสร้างมีความสวยงามและน่าอยู่อาศัยผู้สร้างสรรค์ผลงานลักษณะนี้ เรียกว่า  มัณฑนากร  (decorator) 

       ผลงานมัณฑศิลป์แบ่งออกเป็น  ๒ ลักษณะ  คือ

         ๑. การตกแต่งภายใน  (interior  design)  ได้แก่  การเลือกเครื่องใช้สอย  การเลือกสีทาภายในห้องต่างๆ  ภายในบ้าน  อาคาร  ห้องประชุม  สำนักงาน  โรงแรม  สถานที่ต่างๆ  รวมถึงการจัดนิทรรศการ  การจัดแสดงสินค้า   การตกแต่งหน้าร้าน   เป็นต้น

ห้องรับรอง  (Lobby) โรงแรม

ห้องรับแขกภายในบ้าน
     
             ๒.การตกแต่งภายนอก  (exterior  desing)  ได้แก่  การจัดสรรบริเวณสวนหย่อม  สนามหญ้า  น้ำตก  สระน้ำ  เพื่อช่วยให้งานสถาปัตยกรรมมีความกลมกลืนและสอดรับกับสภาพภูมิศาสตร์สิ่งแวดล้อม  และบรรยากาศที่ผันแปรได้  เพื่อส่งเสริมให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
การตกแต่งสวนบริเวณเรือนทรงไทย


การตกแต่งสวนแบบญี่ปุ่น

   ๒) อุตสาหกรรมศิลป์ (industrial art )   หมายถึง งานทัศนศิลป์ที่เกี่ยวกับการออกแบบเพื่อการผลิตสินค้า  เรียกว่า ผลิตภัณฑ์  (product) สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ให้สวยงามและเหมาะสมกับการผลิตอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐาน  ผลิตครั้งละจำนวนมากๆ  เพื่อลดต้นทุน  ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้แก่  ยานพาหนะ  เครื่องใช้ไฟฟ้า  เฟอนิเจอร์ เสื้อผ้า  เครื่องประดับ  เครื่องแต่งกาย  เครื่องอุปโภค บริโภคต่างๆ  และภาชนะบรรจุผลิตภัณฑ์ต่างๆ  ผู้สร้างสรรค์ผลงานลักษณะนี้   เรียกว่า นักออกแบบ  (designer)
เครื่องประดับ


มอเตอร์ไซค์


กล้องถ่ายรูป

     ๓) พาณิชยศิลป์ (commercial  art)  หมายถึง งานทัศนศิลป์ที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อจุดมุ่งหมายในทางการค้าและธุรกิจโดยเฉพาะ  เช่น ป้ายโฆษณา  โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์  ปกหนังสือ  ปกซีดีเพลง  การตกแต่งหน้าร้าน  สื่อโฆษณาต่างๆ  เป็นต้น  ผลตอบแทนหรือผลสำเร็จของงานพาณิชยศิลป์  วัดจากการนำเสนอผลงานที่ลูกค้าชื่นชอบกับยอดจำหน่ายที่สร้างผลกำไรเป็นหลัก  ดังนั้นแนวความคิดของผลงานจะคำนึงถึงกลุ่มลูกค้าเป็นสิ่งแรกและมีความสำคัญมากที่สุด
โปสเตอร์ภาพยนตร์


ภาพประกอบเรื่อง ก-ฮ เที่ยวงานวัด
ผลงานของจิราพร  หนองไม้งาม


ปกหนังสือแบบเรียน


ภาพผนัง
ผลงานของนักศึกษา คณะมัณฑนศิลป์  มหาวิทยาลัยศิลปากร

     ๔) หัตถศิลป์ (crafts)  หมายถึง งานทัศนศิลป์ที่ผลิตด้วยมือเป็นหลัก  สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อการใช้สอยและประกอบพิธีกรรมตามขนบธรรมเนียมประเพณี  ผลงานแสดงถึงเอกลักษณ์เฉพาะในท้องถิ่นที่มีลักษณะประณีตงดงาม  ผลงานทัศนศิลป์ประเภทนี้อาจเรียกอีกอย่างว่า  ทัศนศิลป์พื้นบ้าน (folk art) ได้แก่  เครื่องปั้นดินเผา  เครื่องเบญจรงค์  เครื่องลงรักปิดทอง  เครื่องทอง  เครื่องเงิน  เครื่องจักรสาน  เป็นต้น  ผลงานหัตถศิลป์เหล่านี้ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้  เพราะเป็นศิลปวัฒนธรรมของชาติ

เครื่องเบญจรงค์



       

ตะลุ่มแว่นฟ้าประดับมุก



งานบุโลหะรูปพรรณ  ประเภทพาน
หรือขันหมากครบสำรับ


       ศัพท์ทางทัศนศิลป์ที่เกี่ยวข้องกับจุดประสงค์ของงานทัศนศิลป์   เช่น วิจิตรศิลป์ (fine art)  ศิลปะประยุกต์ (appiled art)  จิตรกรรม (painting)     วาดเส้น (drawing)    ระบายสี (painting)  
 ภาพคนเหมือน (portrait)  ภาพคน (human figure)    ภาพสัตว์ (animal)   ภาพทิวทัศน์ (landscape)  
 ภาพทิวทัศน์บก (landscape)  ภาพทิวทัศน์สิ่งก่อสร้าง  (architectural  landscape)   ภาพทิวทัศน์ทะเล (seescape)       ภาพหุ่นนิ่ง (still  like)      ประติมากรรม (sculpture)     รูปแบบนูนต่ำ (bas  relief)   
รูปแบบนูนสูง (high  relief)     รูปแบบลอยตัว (freestanding  sculpture)     สถาปัตยกรรม (architeecture)    มัณฑนศิลป์ (decorative  art)      อุตสาหกรรมศิลป์ (industrial  art)      พาณิชยศิลป์ (commercial  art)     และหัตถกรรมศิลป์ (crafts)



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บุคคลสำคัญในวงการนาฏศิลป์

เครื่องหมาย และสัญลักษณ์ในดนตรีสากล

วิวัฒนาการของดนตรีไทยในแต่ละยุคสมัย (สมัยรัตนโกสินธ์)