หลักการออกแบบและการจัดองค์ประกอบศิลป์ (จุดเด่น ความกลมกลืนและความขัดแย้ง)

           3.จุดเด่น (dominent) หมายถึง จุดสนใจหรือส่วนประธานของงานศิลปะ  จุดเด่นเป็นส่วนสำคัญที่้เด่นที่สุดของงานศิลปะทุกประเภท จุดเด่นจะชัดเจนจนสะดุดตามีพลังดึงดูดความสนใจและมีส่วนช่วยให้จุดรองลงไปช่วยเสริมให้จุดเด่น ส่วนที่เป็นประธานดูเด่นน่าสนใจยิ่งขึ้น  มีความสมบูรณ์มากขึ้น จุดรองจะสัมพันธ์กับจุดเด่นและกลมกลืนกัน

soldier Laughing Girl
ผลงานของจาน เฟร์เมร์ (Jan Vermeer)
เป็นลักษณะของภาพที่แสดงจุดเด่นไว้ในระยะกลางมีตำแหน่งไม่อยู่กึ่งกลางของภาพ
ศิลปินเน้นจุดเด่นด้วยแสงและเงา

                 หลักการทำให้เกิดจุดเด่นมีดังนี้

   (๑) ตำแหน่งของจุดเด่น   ตำแหน่งของจุดเด่นมักวางไว้ในระยะหน้า (foreground) หรือ ระยะกลาง  (middleground) ไม่นิยมวางจุดเด่นไว้ตรงกึ่งกลาง   เพราะจะทำให้ความรู้สึกหยุดนิ่ง  ทำให้งานศิลปะด้อยคุรค่า  ควรวาวงไว้ให้เยื้องไปซ้ายขวา  บนล่าง ใกล้กับจุดกึ่งกลาง

  (๒) การเน้นจุดเด่น  เน้นได้ ๔ วิธี

         ๑. การเน้นด้วยขนาดของรูปร่างหรือรูปทรง  โดยนำเอารูปทรงที่มีขนาดแตกต่างกันมาจัดองค์ประกอบ  รูปร่างหรือรูปทรงที่ใหญ่กว่าย่อมมีความเด่นชัดกว่ารูปร่างหรือรูปทรงที่มีขนาดเล็กกว่า  แต่ต้องวางในตำแหน่งที่เหมาะสมจึงจะทำให้เกิดจุดเด่น

ผลงานของสมภพ  บุตรราช
แสดงการเน้นจุดเด่นของภาพด้วยขนาดของรูปร่างหรือรูปทรง ทำให้ภาพที่มี
ขนาดใหญ่มองเห็นได้ง่ายและเด่นชัดกว่าภาพขนาดเล็ก
             
               ๒. การเน้นด้วยแสงและเงา   คือ การใช้น้ำหนักความเข้มของแสงและเงาไล่ระยะแสงสว่างและเงามืด โดยเน้นแสงสว่างตรงที่ต้องการเน้นไล่ระยะของสีแสงสว่าง  โดยลดความสดใสลงไปจนถึงสีเข้มในจุดที่ต้องการเน้น  การเน้นด้วยแสงและเงาควรให้กลมกลืนกันและตัดกันได้ จุดเน้นที่ชัดเจนและเหมาะสม

ภาพประกอบแนวแฟนตาซี  
เน้นจุดเด่นภายในภาพโดยการใช้น้ำหนักความเข้มของแสงและเงา ไล่ระยะแสงสว่างและเงามืด 
 แสดงการจัดวางตำแหน่งของจุดเด่นใกล้กับจุดกึ่งกลางของภาพ ทำให้จุดเด่นชัดเจนมากยิ่งขึ้น

            ๓. การเน้นด้วยเส้น   คือ การใช้เส้นแบบต่างๆ  มาเน้นให้เกิดจุดเด่น โดยเน้นให้เกิดความกลมกลืน  และเน้นให้เกิดความขัดแย้ง การเน้นให้เกิดความกลมกลืนและความขัดแย้งอย่างเหมาะสมจะทำให้เกิดจุดเด่นที่มีคุณค่าทางความงาม
ภาพที่แสดงการเน้นจุดเด่นในงานจิตรกรรมไทย ด้วยการตัดเส้นเน้นภาพ

ภาพพื้นหลังโฆษณา แสดงลักษณะการออกแบบโดยการนำเส้นมาเน้น
เพื่อสร้างจุดเด่นของผลงาน

                     ๔. การเน้นด้วยวรรณะของสี   คือ การใช้สีในวรรณะใดวรรณะหนึ่งมาช่วยให้เกิดจุดเด่น เช่น การนำสีวรรณะอุ่นมาเน้นสีวรรณะเย็นให้เกิดความขัดแย้งกัน  สีวรรณะอุ่นจะเกิดความเด่นในทางตรงกันข้ามกัน  ถ้าใช้สีวรรณะเย็นมาเน้นสีวรรณะอุ่น  สีวรรณะเย็นจะเด่นชัดกว่าเพราะได้รับการช่วยเหลือจากสีวรรณะอุ่น หรือการใช้สีวรรณะใดวรรณะหนึ่งเน้นให้เกิดจุดเด่น
เป็นผลงานที่แสดงการเน้นภาพด้วยวรรณะสีที่แตกต่างกัน
โดยใช้คู่สีตัดกันในการสร้างสรรค์จุดเด่นของภาพและทำให้ภาพดูน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

๔.ความกลมกลืน (harmony)   หมายถึง เข้ากันได้ดี  ไม่ขัดแย้งกันขององค์ประกอบศิลป์ เช่น  เส้น รูปร่าง  รูทรง  ขนาด สัดส่วน  สี  ผิว ประกอบเข้าด้วยกัน  เกิดการประสานสัมพันธ์ กลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียกัน  เช่น กลมกลืนด้วยเส้น  ขนาด สี ผิว กลมกลืนจากสิ่งที่เหมือนกัน คล้ายคลึงกัน  เป็นต้น  ความกลมกลืนมี ๖ ลักษณะ ดังนี้
           (๑) ความกลมกลืนด้วยขนาด  คือ การนำเอารูปร่างหรือรูปทรงที่มีขนาดใกล้เคียงกันมาจัดวาง  ทำให้เกิดความประสานสัมพันธ์เหมาะสม มีช่องว่างพอเหมาะของรูปกับพื้น
แอปเปิ้ลและส้ม (Apples and Oranges) ผลงานของปอล  เซซาน (Paul Cezanne)
เป็นการนำเอารูปร่างหรือรูปทรงที่มีขนาดใกล้เคียงกันมาจัดวาง
ให้เกิดความประสานสัมพันธ์กันอย่างเหมาะสม
    
          (๒) ความกลมกลืนด้วยเส้น  คือการนำเอาเส้นชนิดใดชนิดหนึ่งที่มีขนาดใกล้เคียงกันมาจัดองค์ประกอบให้มีความกลมกลืนกัน
Wheat Field with Cypresses  ผลงานของวินเซนต์  วาน ก็อก (Vincent van Gogh)
สร้างสรรค์ภาพให้เกิดความกลมกลืนกันด้วย เชิงฝีแปรง  ที่เป็นเส้นโค้งลักษณะต่างๆ
ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหวอย่างสวยงาม

               (๓) ความกลมกลืนกันด้วยสี คือ การเลือกใช้สีในวรรณะเดียวกัน หรือการใช้สีสีเดียว เรียกว่า  สีเอกรงค์  (monochrome) เช่น สีน้ำเงินสีเดียวหรือสีน้ำตาลสีเดียวแล้วไล่น้ำหนักอ่อนแก่ด้วยการผสมสีขาว  หรือใช้สีวรรณะอุ่นหรือสีวรรณะเย็น วรรธใดวรรณะหนึ่ง ก็จะได้ภาพที่เกิดความกลมกลืนด้วยสี
The Reader  ผลงานของซอง-โอโนเร ฟรากอนาร์ (Jean-Honore  Fragonard)
สร้างสรรค์ภาพให้มีความกลมกลืนกันด้วยกลุ่มสีเหลืองอย่างสวยงาม

               (๔) ความกลมกลืนด้วยลักษณะผิว   คือ การนำเอลักษณะผิวที่เหมือนกันหรือใกล้เคียงกันมาจัดองค์ประกอบ  เช่น ผิวมัน  ผิวละเอียด  ผิวเรียบ  มาจัดให้มีความกลมกลืนกัน  จะได้ภาพลักษณะผิวที่กลมกลืน
The Family   ผลงานของ อีกอน  ชีลเล (Egon Schiele)
เป็นการถ่ายทอดผลงานโดยสร้างความกลมกลืนของภาพด้วยลักษณะผิวได้อย่างสวยงาม
และน่าสนใจยิ่งซึ่งถือเป็นเทคนิควิธีการอย่างหนึ่งในการนำเสนอของศิลปิน

ด้วงทองคำ   ผลงานของช่วง  มูลพินิจ  
เป็นการสร้างความกลมกลืนของภาพด้วยลักษณะผิวลวดลาย
ประสานเข้ากับรูปทรงต่างๆ อย่างกลมกลืน

                      (๕) ความกลมกลืนจากสิ่วที่เหมือนกัน   คือ การนำองค์ประกอบที่มีลักษณะเหมือนกันมาจัดรวมกัน  เช่น รูปทรงเหมือนกัน  ให้ความกลมกลืนกัน  ก็จะได้ภาพความกลมกลืนจากสิ่งที่เหมือนกัน
ส้ม   ผลงานของ Dan Petrov  
เป็นการนำเอารูปทรงที่เหมือนกันมาจัดองค์ประกอบภายในภาพก็มีความกลมกลืนกัน
ทำให้ได้ภาพความกลมกลืนจากสิ่งที่เหมือนกัน

                  (๖) ความกลมกลืนจากสิ่งที่คล้ายกัน   คือ การนำเอาองค์ประกอบที่มีลักษณะที่คล้ายกันมาจัดรวมกัน   เช่น รูปทรงที่คล้ายกัน  ขนาดใกล้เคียงกัน  เป็นต้น  ก็จะได้ภาพความกลมกลืนจากสิ่งที่คล้ายกัน
การเดินทางสู่โลกหน้า 5-ใต้น้ำ  ผลงานของประทีป  คชบัว
เป็นการจัดองค์ประกอบภาพดดยใช้หลักการสร้างความกลมกลืนจากสิ่งที่คล้ายกัน  นำมาจัดรวมกัน
สร้างสรรค์ขึ้นเป็นเรื่องราวที่สอดคล้องกันทำให้เกิดความกลมกลืน

๕) ความขัดแย้ง (contrast)  หมายถึง ความไม่ลงรอยกัน  เข้ากันไม่ได้  ไม่ประสานสัมพันธ์กันขององค์ประกอบศิลป์  เช่น  เส้น  รูปร่าง  ขนาด  สี  ผิว  เป็นต้อน  ทำให้เกิดความแตกต่างในทิศทางของเส้น  รูปร่าง  รูปทรง  ขนาดของสิ่งต่างๆ สีและยิวแตกต่างกัน  ศิลปินจะต้องนำเอาความขัดแย้งขององค์ประกอบมาจัดให้เกิดคความกลมกลืน  งานศิลปะจึงจะมีคุณค่าความงาม  ด้วยวิธีการดังนี้
            (๑) วิธีลดความขัดแย้ง    คือ การลดหรือเพิ่มองค์ประกอบศิลป์ที่มีความขัดแย้งกันของส่วนใดส่วนหนึ่งให้เหลือปริมาณความขัดแย้งในอัตราส่วน 80:20 ให้กลมกลืน 80 ส่วน     ขัดแย้ง 20 ส่วน  หรืออาจเพิ่มลดอัตราส่วนของความแตกต่างให้ใกล้เคียงเพื่อให้องค์ประกอบมีความกลมกลืนกัน  แต่ยังคงความขัดแย้งอยู่บ้างเพื่อให้ผลงานน่าสนใจมากขึ้น  ถ้าไม่มีความขัดแย้งเลยจะทำให้จืดชืด เรียบ และไม่ดึงดูดความสนใจ
วัวสีเหลือง   ผลงานของฟรันช์  มาร์ค  (Franz Marc)
แสดงวิธีการลดความขัดแย้งของวรรณะสีอุ่นกับวรรณะสีเย็น
โดยลดปริมาณความขัดแย้งลงในอัตราส่วน 80 :20

                    (๒) ลักษณะของความขัดแย้ง  มีดังนี้
                           ๑. ความขัดแย้งด้วยรูปทรง   คือ รูปทรงที่แตกต่างกันจะมีความขัดแย้งกัน  เช่น รูปทรงเหลี่ยมกับรูปทรงกลม  การลดความขัดแย้ง  โดยการเปลี่ยนรูปทรงกลมให้เป็นรูปทรงเหลี่ยมที่ใกล้เคียงกัน  จะเกิดความกลมกลืน
คนหว่านเมล็ดพืช  (The Sower)  ผลงานของวินเซนต์  วานก็อก (Vincent  van  Gogh)
แสดงการนำรูปทรงที่ต่างกันมาจัดองค์ประกอบของภาพทำให้เกิดความขัดแย้งด้วยรูปทรง

                      ๒.ความขัดแย้งด้วยขนาด   คือ องค์ประกอบที่มีขนาดเล็กขัดแย้งกับองค์ประกอบที่มีขนาดใหญ่กว่ากันมาก ในองค์ประกอบเดียวกัน  เช่น รูปทรงขนาดใหญ่ขัดแย้งกับรูปทรงที่มีขนาดเล็กมาก  วิธีแก้ความขัดแย้ง  คือ เพิ่มรูปทรงขนาดเล็กให้มีขนาดใกล้เคียงกับขนาดใหญ่ หรือลดรูปทรงขนาดใหญ่ลงให้ใกล้เคียงกับขนาดเล็ก  จะทำให้เกิดความกลมกลืนกัน
ผลงานของอานันท์  ราชวังอินทร์
เป็นการนำความขัดแย้งของขนาดมาใช้ในการจัดองค์ประกอบของภาพผลงานแนวพุทธศิลป์

                   ๓. ความขัดแย้งด้วยเส้น    เส้นแนวนอนขัดแย้งกับเส้นแนวตั้ง  เส้นตรงขัดแย้งกับเส้นคด  เส้นโค้งขัดแย้งกับเส้นฟันปลา เป็นต้น  วิธีการลดความขัดแย้ง  คือ ลดหรือเพิ่มปริมาณ คือ ลดหรือเพิ่มปริมาณของเส้นแต่ละเส้น  จะช่วยให้ความขัดแย้งลดลง  เช่นเส้นแนว  ลดเส้นแนวตั้งให้เหลือ 20 % เพิ่มเส้นแนวนอนขึ้นเป็น  80% ในลักษณะเดียวกันลดหรือเพิ่มเส้นตรงกับเส้นคด  เส้นโค้งกับเส้นฟันปลา  องค์ประกอบของเส้นทั้งสามลักษณะจะลดความขัดแย้งลง  มีความกลมกลืนมากขึ้น หรือเปลี่ยนแปลงเส้นต่างๆ  ให้แปลกใจจากเดิมจะช่วยลดความขัดแย้งลง
ตัวอย่างความขัดแย้งด้วยเส้น
เป็นการนำความขัดแย้งของเส้นมาใช้ในการจัดองค์ประกอบของภาพ

                   ๔.ความขัดแย้งด้วยลักษณะผิว  ลักษณะผิวที่ขรุขระย่อมขัดแย้งกับลักษณะผิวที่เรียบ ลักษณะผิวหยาบขัดแย้งกับผิวละเอียด  วิธีลดความขัดแย้งต้องลดปริมาณความขรุขระให้น้อยลง เพิ่มลักษณะผิวเรียบให้ขรุขระขึ้น  ลดผิวหยาบให้ละเอียดลง  เพิ่มผิวละเอียดให้หยาบขึ้น หรือเปลี่ยนแปลงผิวแบบต่างๆให้แปลกไปจากเดิมแล้วนำมาจัดประกอบจะช่วยลดความขัดแย้งลง
Slave Awakening 
ผลงานของมีเกลันเจโล  บูโอนาร์โรตี  (Michelangelo  Buonarroti)
เป็นผลงานที่ศิลปินต้องการถ่ายทอดความขัดแย้งของลักษณะผิวที่แตกต่างกัน 
เพื่อสื่ออารมณ์ความรู้สึกของผลงาน


                      ๕. ความขัดแย้งด้วยสี  คือ ขัดแย้งด้วยสีตรงกันข้าม  ขัดแย้งด้วยความเข้มของสี  วิธีลดความขัดแย้ง  โดยการเพิ่มหรือลดปริมาณของสีตรงกันข้ามลงให้สีใดสีหนึ่งมี 80% อีกสีหนึ่ง 20% และลดความเข้มของสีลง  หรือเพิ่มความเข้มของสีขึ้นเช่นเดียวกัน
อ้อมขวัญกับตุ๊กตา  ผลงานของอวบ  สาณะเสน
เป็นผลงานที่แสดงความขัดแย้งด้วยสีอย่างชัดเจน  ศิลปินใช้สีคู่ตรงข้าม 
คือ  กลุ่มสีแดงและกลุ่มสีเขียวในการสร้างสรรค์ผลงาน และลดความขัดแย้ง
ของกลุ่มสีทั้งสองด้วยสีเหลือง  ทำให้ภาพดูน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

                      ๖. ความขัดแย้งด้วยรูปร่าง   คือ รูปร่างที่ต่างกันจะขัดแย้งกัน  เช่น รูปร่างกลมขัดแย้งกับรูปร่างเหลี่ยม  รูปร่างเรขาคณิต ขัดแย้งกับรูปร่างอิสระ  เป็นต้น  วิธีลดความขัดแย้งด้วยการทำรูปร่างให้มีลักษณะใกล้เคียงกันก็จะทำให้เกิดความกลมกลืนกัน
เป็นการออกแบบจัดวางภาพ  โดยนำความขัดแย้งของรูปร่างมาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน

สัญลักษณ์   
เป็นการออกแบบโดยนำความขัดแย้งของรูปร่างมาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน
และลดความขัดแย้งของรูปร่าง โดยการออกแบบให้ภาพมีลักษณะที่โค้งมนและไม่เป็นเหลี่ยม

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บุคคลสำคัญในวงการนาฏศิลป์

เครื่องหมาย และสัญลักษณ์ในดนตรีสากล

วิวัฒนาการของดนตรีไทยในแต่ละยุคสมัย (สมัยรัตนโกสินธ์)