ประวัติความเป็นมาของนาฏศิลป์ไทย

           นาฏศิลป์ไทยเป็นศิลปะการแสดงประจำชาติ เป็นสมบัติของชาติที่มีคุณค่าสูง เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์ไว้และได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังเป็นแบบแผนที่ยึดถือปฏิบัติแสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของชาติ สืบทอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การแสดงนาฏศิลป์เป็นการแสดงที่ใช้ท่ารำประกอบ เพื่อสื่อให้ผู้ชมเข้าใจเรื่องราวของการแสดง ให้ได้รับความเพลิดเพลินมีความสุขที่ได้ชมได้ฟัง เป็นการแสดงที่มีความวิจิตรงดงามมีลีลาอ่อนช้อยตามแบบอย่างไทย ทำให้เป็นที่ชื่นชอบของผู้ชม ความประณีตงดงามในศิลปวัฒนธรรมแขนงนี้ คนไทยทุกคนควรจะตระหนัก เห็นคุณค่า ร่วมกันอนุรักษ์ สืบทอดสืบสานและร่วมส่งเสริม เพื่อให้ศิลปะการแสดงนาฏศิลป์ไทยคงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป

     ความหมายของ “นาฏศิลป์ไทย”

คำว่า “นาฏศิลป์” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 มีความหมายว่า ศิลปะแห่งการละคร หรือการฟ้อนรำ

       ประทิน พวงสำลี (2541, 1) กล่าวไว้ว่า นาฏศิลป์ หมายถึง การร้องรำทำเพลง การให้ความบันเทิงใจอันร่วมด้วยความโน้มเอียงของอารมณ์และความรู้สึก ส่วนสำคัญส่วนใหญ่ ของนาฏศิลป์ อยู่ที่การละครเป็นเอก หากแต่ศิลปะประเภทนี้จำต้องอาศัยดนตรี และขับร้อง เข้าร่วมด้วยเพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดคุณค่าในศิลปะยิ่งขึ้นตามสภาพหรือตามอารมณ์ต่างๆ กัน สุดแต่จะมุ่งหมาย นอกจากนี้ยังต้องถือเอาความหมาย การร้องการบรรเลงเข้าร่วมด้วย

       ธนิต อยู่โพธิ์ (2516, 1)   ได้กล่าวว่า นาฏศิลป์ หมายถึง การฟ้อนรำ

       จาตุรงต์ มนตรีศาสตร์ (2517, 1) กล่าวไว้ว่า คำว่า “นาฏศิลป์” เป็นคำสมาส แยกได้เป็น 2 คำ คือ นาฏ และศิลป์

      นาฏ หมายถึง การฟ้อนรำ

ศิลป์ ได้แก่ สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา ในเมื่อธรรมชาติไม่สามารถอำนวยให้แต่ต้องสร้าง ให้ประณีต ดีงาม และสำเร็จสมบูรณ์ ศิลปะเกิดขึ้นด้วยทักษะ คือ ความชำนาญในการปฏิบัติ

ซึ่งพอจะประมวลความได้ว่า นาฏศิลป์ หมายถึงการฟ้อนรำที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น ในเมื่อธรรมชาติไม่อำนวยให้ แต่ต้องประณีตลึกซึ้งตรึงตาตรึงใจ ทั้งเพียบพร้อมไปด้วย ความวิจิตรบรรจงอันละเอียดอ่อนและปฏิบัติให้สมบูรณ์ได้โดยเกิดจากความชำนาญถือเอาความหมายของ การร้องและการบรรเลงเข้าร่วมด้วย

      พาณี สีสวย (2523, 6-7) ได้กล่าวถึงคำว่า นาฏศิลป์ หมายถึง ศิลปะในการฟ้อนรำ หรือ ความรู้แบบแผนของการฟ้อนรำ เป็นสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นด้วยความประณีตงดงาม มีแบบแผน ให้ความบันเทิงอันโน้มน้าวอารมณ์ และความรู้สึกของผู้ชมให้คล้อยตาม ศิลปะประเภทนี้ต้องอาศัย การบรรเลงดนตรีและการขับร้องเข้าร่วมด้วย

      อมรา กล่ำเจริญ (2542, 3) ได้กล่าวถึง คำว่า นาฏศิลป์ หมายถึง การฟ้อนรำที่มนุษย์ ประดิษฐ์ขึ้นจากธรรมชาติด้วยความประณีตอันลึกซึ้ง เพียบพร้อมไปด้วยความวิจิตรบรรจง อันละเอียดอ่อน นอกจากหมายถึงการฟ้อนรำระบำรำเต้นแล้วยังหมายถึงการร้องและการบรรเลง

        รานี ชัยสงคราม (2544, 39) กล่าวไว้ว่า นาฏศิลป์ หมายถึง การร้องรำทำเพลง การให้ความบันเทิงใจด้วยความโน้มเอียงของอารมณ์และความรู้สึก ส่วนสำคัญส่วนใหญ่ของนาฏศิลป์อยู่ที่การละครเป็นเอก หากแต่นาฏศิลป์นั้นจะต้องอาศัยดนตรีและการขับร้องเข้าร่วมด้วย

       เรณู โกศินานนท์ (2544, 51) ได้กล่าวถึง คำว่า นาฏศิลป์ หมายถึง ศิลป์แห่ง การฟ้อนรำอันเป็นพื้นฐานที่แสดงถึงอารยธรรมความรุ่งเรืองของชาติที่รุ่งเรืองหรืออารยธรรมที่เก่าแก่ ย่อมมีวัฒนธรรมทางด้านดนตรีนาฏศิลป์ของตนเอง

    ที่มาของนาฏศิลป์ไทย

     การแสดงละคร ฟ้อน รำระบำ เต้น เป็นศิลปะที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมาตั้งแต่มนุษย์ เริ่มอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนมีวิวัฒนาการและการพัฒนาการเป็นลำดับอย่างต่อเนื่องที่ไปสู่การละเล่นร้องรำทำเพลงแล้วมาเป็นการแสดงที่เล่นเป็นเรื่องเป็นราว ที่มาของการแสดงเหล่านี้ได้มี ผู้สันนิษฐานถึงมูลเหตุของที่มาไว้หลายประการ ซึ่งอาจประมวลได้ดังนี้

1. เกิดจากการเลียนแบบธรรมชาติ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวอิริยาบถตามธรรมชาติของมนุษย์ เช่น แขน ขา หน้าตา หรือการแสดงความรู้สึก อารมณ์ต่างๆ ของมนุษย์ที่แสดงออกมาในกิริยาอาการต่างๆ เช่น ความโกรธ ความรัก โศกเศร้า เสียใจ มนุษย์ได้ใช้ลักษณะท่าทางต่างๆ เหล่านี้ในการสื่อความหมายและนำมาดัดแปลงให้นุ่มนวลน่าดูชัดเจนไปกว่าธรรมชาติ จนเกิดเป็นศิลปะ การฟ้อนรำขึ้นและใช้เป็นการแสดงโดยมีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับ จนกระทั่งเกิดเป็น ท่าทางการร่ายรำที่งดงามที่เป็นพื้นฐานของการฟ้อนรำทางนาฏศิลป์ เรียกว่า ภาษาท่ารำทางนาฏศิลป์ เช่น

2. เกิดจากการมนุษย์คิดประดิษฐ์เครื่องบันเทิงใจ เมื่อหยุดพักจากภารกิจประจำวัน เป็นการผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยโดยเริ่มจากการเล่าเรื่องต่างๆ สู่กันฟัง เช่น นิทาน นิยาย ต่อมาได้มีวิวัฒนาการโดยนำเอาดนตรีมาประกอบการเล่าเรื่องเหล่านั้นเรียกว่า การขับเสภา ภายหลังมีการประดิษฐ์ท่าทางต่างๆ และมีการพัฒนารูปแบบไปเป็นการร่ายรำจนถึงขั้นการแสดงเป็นเรื่องราว

3. เกิดจากการละเล่นเลียนแบบของมนุษย์ ที่มักหาความสนุกสนานเพลิดเพลินจากการเลียนแบบแม้เรื่องราวของตนเอง เช่น เลียนแบบท่าทางของพ่อ แม่ ครู ผู้ใหญ่ หรือเลียนแบบธรรมชาติสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น การเล่นงูกินหาง การเล่นขายของ การเล่นมอญซ่อนผ้า ความสนุกของการเล่นเลียนแบบอยู่ที่การได้เล่นเป็นคนอื่น ซึ่งถือเป็นการเรียนรู้ในเรื่องของ การแสดงขั้นต้นของมนุษย์ ที่นำไปสู่การสร้างสรรค์การแสดงนาฏศิลป์

4. เกิดจากการเซ่นบวงสรวงบูชาเทพเจ้า ในสมัยก่อนมนุษย์มีความเชื่อในเรื่องเทพเจ้าพระผู้เป็นเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และจะเคารพบูชาในสิ่งที่ตนนับถือ เมื่อมนุษย์เกิดความหวั่นกลัว จะมีการเคารพสักการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เริ่มจากการอธิษฐานบวงสรวงบูชาด้วยอาหาร ต่อมา มีการบวงสรวงบูชาด้วยการร่ายรำ มีการเล่นเครื่องดนตรีดีดสีตีเป่าและมีการร้องประกอบ เพื่อให้เทพเจ้าพอใจมีความกรุณาผ่อนผันหนักเป็นเบาหรือประทานให้ประสบความสำเร็จ ในสิ่งที่ปรารถนา

จากความเชื่อเหล่านี้ จึงได้เกิดลิทธิทางศาสนาและตำนานเกี่ยวกับเทพเจ้า ในสมัยสุโขทัย มีหลักฐานสำคัญ คือ หลักศิลาจารึกที่ปรากฏคำว่า “ระบำรำเต้นเล่นทุกวัน” ทำให้เข้าใจได้ว่า สมัยสุโขทัยนี้มีระบำเกิดขึ้น แต่คำว่าละครยังไม่ปรากฏและในสมัยนี้ มีวัฒนธรรมของอินเดีย แพร่หลายเข้ามามากมายโดยเฉพาะศิลปะการฟ้อนรำอินเดียเป็นชาติที่มีความเจริญก่อนวัฒนธรรมจึงแพร่หลายเข้าไปในชมพูทวีป การฟ้อนรำของอินเดียมีตำราแต่โบราณ เรียกว่า “นาฏยศาสตร์” ประเทศไทย ก็ได้รับอิทธิพลทางอารยธรรมนี้ในด้านการฟ้อนรำ โดยได้นำมาดัดแปลงแต่งเติมให้เหมาะสมตรงกับความนิยม

   โดยสรุปแล้ว

นาฏศิลป์ เป็นศิลปะแห่งการละครหรือฟ้อนรำ เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นด้วยความประณีตงดงาม มีแบบแผน ให้ความบันเทิง และยังแสดงให้เห็นถึงอารยธรรมของชาติที่เจริญรุ่งเรือง มีวัฒนธรรมทางด้านดนตรี – นาฏศิลป์ สืบต่อกันมา

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บุคคลสำคัญในวงการนาฏศิลป์

เครื่องหมาย และสัญลักษณ์ในดนตรีสากล

วิวัฒนาการของดนตรีไทยในแต่ละยุคสมัย (สมัยรัตนโกสินธ์)