ประวัติความเป็นมาของละครไทย สมัยรัตนโกสินทร์

    สมัยรัตนโกสินทร์

    ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 4 การแสดงนาฏศิลป์มีวิวัฒนาการออกมาในรูปโขน ละคร โดยมีองค์พระมหากษัตริย์เป็นองค์อุปถัมภ์และได้มีการรวบรวมข้อมูลไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิง

     สมัยรัตนโกสินทร์ตอนปลาย  ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุที่วัฒนธรรมตะวันตกหลั่งไหลมาสู่ทวีปเอเชีย ลักษณะการแสดงละครไทยก็เปลี่ยนแปลงไปตามวิถีชีวิตของคนไทยในแต่ละสมัย  มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาผสมผสานกับการแสดง  รวมทั้งเกิดมีหน่วยงานและสถาบันการศึกษาแห่งชาติ คือ วิทยาลัยนาฏศิลป์  กรมศิลปากร ที่ทำหน้าที่โดยตรงในการอนุรักษ์เผยแพร่ศิลปะสาขานี้  ผลิตศิลปินและครูนาฏศิลป์  โขน ละคร ดนตรี ปี่พาทย์

       1.สมัยรัชกาลที่ 1   พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯให้รวบรวมตำราฟ้อนรำ พัฒนาโขนในรูปแบบละครใน  และได้ไปเผยแพร่การแสดงที่ประเทศกัมพูชา

      2.สมัยรัชกาลที่ 2  ศิลปะการละครในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นศิลปะที่ประณีตงดงาม พระองค์ทรงอุตสาหะในการปรับปรุงศิลปะละครฟ้อนรำของไทยให้มีความประณีต  รวบรัดทันใจผู้ชม  บทไพเราะ  ท่ารำงดงาม  มีการกวดขันฝีมือรำตั้งแต่เด็ก  ฝึกปฏิบัติอย่างเนื่องเพื่อให้เกิดทักษะ  สุนทรียะ จนอาจกล่าวได้ว่า ท่ารำในสมัยรัชกาลที่ 2 มีความประณีตงดงามมาก

      นอกจากนี้ยังได้ทรงพัฒนาละครนอก  โดยใช้ผู้หญิงแสดงและแต่งกายแบบละครในและยังทรงริเริ่มให้มีการขับเสภาปี่พาทย์  ทรงพระราชนิพนธ์บทเสภาบางตอน คือ ตอนพลายแก้วเป็นชู้กับนางพิม  ตอนวันทองหึงลาวทอง  ตอนขุนแผนขึ้รเรือนขุนช้างได้นางแก้วกิริยาและตอนขุนแผนพาวันทองหนี

     รวมทั้งทรงมีพระราชดำริให้เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี  บรมครูนาฏศิลป์และการละคร  นำท่ารำจากการแสดงนาฏศิลป์ของประเทศเพื่อนบ้านมาประดิษฐ์ท่ารำ  นับว่าเป็นวิวัฒนาการอย่างหนึ่งของการละครไทย  ชุดการแสดงที่นำลีลากระบวนท่ารำจากชาติต่างๆมาผสมผสานในการประดิษฐ์ท่ารำ ได้แก่  

       ชุดรำพัด  นำเอากระบวนแบบรำพัดของจีนมาฝึกหัดละครหลวง

       ชุดรำดาวดึงส์  เลียนแบบมาจากพิธีเต้นเจ้าเซ็นของแขก

       ชุดรำฝรั่งคู่ ประดิษฐ์ท่ารำโดยใช้ลีลาฝรั่ง  แขก  จีน ระคนกันและให้คล้อยตามทำนองเพลง

       ชุดรำกริชสุหรานากง  กริช เป็นอาวุธสำคัญอย่างหนึ่งของชาวชวาและมลายู  ซึ่งสามารถพบเห็นจากการแสดงละคร เรื่อง อิเหนา

     พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงเป็นศิลปิน ทั้งทางด้านกวี  นาฏศิลป์ การละคร และการช่าง  บทพระราชนิพนธ์  เรื่องอิเหนา  ของพระองค์ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่าเป็น  ยอดบทละคร  เล่นละครได้สมบูรณ์ครบองค์ 5 ของละครรำ คือ

       1.ตัวละครงาม

       2. รำงาม

       3.ร้องเพราะ

      4.พิณพาทย์เพราะ

      5.กลอนเพราะ

  ในสมัยรัชกาลที่ 2 นับว่าเป็นยุคทองแห่งนาฏศิลป์ การละคร  และวรรณคดี  มีกวีเอกระดับโลก  คือ สุนทรภู่ มรปรมาจารย์ทางด้านนาฏศิลป์และการละคร  คือ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี  มีนาฏยศิลปิน คือ ครูทองอยู่่  ครูรุ่ง

    ทั้งนี้องค์การสหประชาชาติได้เทิดพระเกียรติและประกาศยกย่องพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยว่า ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก เมื่อ พ.ศ.2510

    กล่าวโดยสรุป นาฏศิลป์และการละครในสมัยนี้  มีการฝึกหัดทั้งละครใน  ละครนอก โขน  ฉะนั้นลีลาท่ารำจึงฝึกปฏิบัติครบถ้วนทั้งพระ  นาง  ยักษ์  ลิง ซึ่งลีลาท่ารำสืบเนื่องมาจากสมัยรัชกาลที่ 1 และวิวัฒนาการให้มีความวิจิตรงดงามมากขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2

3.สมัยรัชกาลที่ 3   พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เลิกละครหลวง  ทำให้เกิดคณะละครของเจ้านายและเอกชนขึ้นหลายคณะ  คณะละครที่มีแบบแผนสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน  มีดังนี้

     1. ละครของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ

     2.ละครพระพิพิธโภคภูเบนทร (ถือกันว่ากระบวนรำของละครโรงนี้ดีกว่าโรงอื่นๆ)

    3.ละครกรมหลวงรักษรณเรศ

    4.ละครกรมพระพิทักษเทเวศร์

    5.ละครกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์

   6.ละครเจ้าพระยาบดินทรเดชา

   7.ละครของเจ้าจอมมารดา

   8.ละครเจ้ากรับ (แสดงละครนอก  ตัวละครเป็นผู้ชายล้วน)

4.สมัยรัชกาลที่ 4  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้มีละครหลวงขึ้นใหม่  พระราชทานพระบรมราชานุยาตให้พระบรมวงศานุวงศ์และเอกชนฝึกหัดละครผู้หญิงได้  เมื่อ พ.ศ.2398  เพราะตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมา  ละครผู้หญิงจะมีได้เฉพาะพระมหากษัตริย์เท่านั้น  ทำให้พวกตัวละครผู้ชายต้องผสมโรงเล่นกับละครผู้หญิง  ซึ่งประชาชนนิยมมาก  นับว่าเป็นเป็นวิวัฒนาการใหม่  เนื่องจากแต่เดิมละครผู้หญิงจะมีแต่เฉพาะในวังเท่านั้น

       ด้วยเหตุที่การละครแพร่หลายไปสู่ประชาชนมากขึ้น  จึงได้มรการบัญญัติข้อห้ามในการแสดงละครที่ไม่ใช่ของหลวง  ดังต่อไปนี้

     1.ห้ามมิให้ใช้รัดเกล้ายอด

     2.ห้ามใช้เครื่องประกอบการแสดง  ที่เป็นพานทอง หีบทอง  ห้ามเป่าแตรสังข์

     3.ห้ามใช้เครื่องประดับลงยา

     4.ห้ามทำหัวช้างสีเผือก  ยกเว้นหัวช้างเอราวัณ

     5.ห้ามฉุดบุตรชาย - หญิง ผู้อื่นมาฝึกหัดละคร

 นอกจากนี้ยังมีการประกาศกฏหมายภาษีมหรสพเป็นครั้งแรก เรียกกันในสมัยนั้นว่า  ภาษีโขนละคร  เมื่อ พ.ศ.2402

  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์บทละครขึ้นหลายเรื่อง เช่น เรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระรามเดินดง  บทเบิกโรงเรื่องนารายณ์ปราบนนทุก  รำดอกไม้เงินทอง  รำโคม  โดยโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐ์ท่ารำ  ซึ่งดัดแปลงมาจาก  ญวนรำกระถาง ใช้แสดงเฉพาะในงานรัฐพิธี  และในสมัยนี้บรมครูทางด้านนาฏศิลป์  โขน ละคร ฟ้อนรำ  ได้รวบรวมชำระพิธีไหว้ครูขึ้นทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ซึ่งโปรดเกล้าฯให้ตราขึ้นไว้เป็นฉบับหลวง

    5.สมัยรัชกาลที่ 5   วิถีชีวิตของคนไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เปลี่ยนไปจากเดิม  เพราะได้รับวัฒนธรรมจากตะวันตก  ทำให้ศิลปะการแสดงนาฏศิลป์การละครได้มีการพัฒนาไปอีกรูปแบบหนึ่ง  เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม

    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ได้ทรงฟื้นฟูนาฏศิลป์การละคร  ดดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้ครูละครหลวงตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 ร่วมกับครูละครหลวงสมัยรัชกาลที่ 4 แสดงละคร เรื่อง สังข์ทอง  เพื่อให้เยาวชนรุ่หลังได้เห็นแบบแผนฝีมือครู  และโปรดเกล้าฯให้ละครหลวงเมื่อครั้งรัชกาลที่ 4 แสดงละคร เรื่อ อิเหนา พระองค์ทรงส่งเสริมให้เจ้านายและเอกชนจัดตั้งคณะละครขึ้น  ในสมัยนี้จึงมีคณะละครที่มีชื่อเสียงเกิดขึ้นหลายคณะ  เช่น คณะละครของพระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงฤทธิ์  แสดงละครนอก  สมัยต่อมาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ได้ทรงร่วมกับเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์  ทรงคิดปรับปรุงละครแบบใหม่ เรียกว่า ละครดึกดำบรรพ์ เป็นต้น 

  ละครของเจ้าพระยามหินทร์ศักดิ์ธำรง  ตั้งชื่อโรงละครของท่านว่า  ปรินซ์เทียเตอร์  แสดงทั้งละครนอก  และละครใน  ต่อมาเปลี่ยนเป็นละครพันทาง  และเมื่อท่านถึงแก่สัญกรรม โรงละครของท่านจึงตกเป็นของเจ้าหมื่นไวยวรนาถ  (บุศย์)  ท่านผู้นี้เรียกละครของท่านว่า  ละครบุศย์มหินทร์  

    นอกจากพระองค์จะทรงส่งเสริมให้เอกชนตั้งคณะละครกันอย่างแพร่หลายแล้วยังทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่อง เงาะป่า เรื่องลิลตนิทราช  ในสมัยนี้ยังได้กำเนิดละครเสภา  และโปรดเกล้าฯ ให้มีการแสดงละครพูดเป็นครั้งแรก  ซึ่งเนื้อเรื่องดัดแปลงมาจากละครรำ


    6.สมัยรัชกาลที่ 6  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่ เป็นสมัยที่ โขน  ละคร  ดนตรี ปี่พาทย์  เจริญถึงขีดสุด  ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมมหรสพเพื่อดูแลโขน  ละคร  ดนตรี  ปี่พาทย์ และทรงตั้งโรงเรียนฝึกหัดศิลปะทางโขน ละคร ดนตรี ปี่พาทย์ขึ้น

    ในสมัยนี้ได้เกิด  โขนบรรดาศักดิ์   ซึ่งเป็นโขนสมัครเล่น มีการฝึกหัดให้มหาดเล็กแสดงโขน ส่วนโขนที่ประชาชนแสดงทั่วไป เรืยกว่า โขนเชลยศักดิ์

     พระองค์ได้พระราชนิพนธ์บทพากย์โขน  ปรับปรุงวิธีแสดงโขน  ให้แสดงบนเวที  การแสดงโขนของพระองค์  เรียกว่า  ละครดึกดำบรรพ์เรื่องรามเกียรติ์  มีหลายตอน  เช่น ตอนพรหมาสตร์  ตอนนางลอย  ตอนนาคบาศ  ตอนสุครีพหักฉัตร  ตอนองคตสื่อสาร  เป็นต้น

    นอกจากนี้ ยังทรงพระราชนิพนธ์บทเบิกโรงเรื่องดึกดำบรรพ์ 4 เรื่อง  ได้แก่ มหาพลี  ฤาษีเสี่ยงลูก  นรสิงหาวตาร  และพระคเณศเสียงา  โปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์ตำราฟ้อนรำ  มีการถ่ายภาพตัวละครแทรกเป็นภาพประกอบ ซึ่งได้ใช้เป็นหลักในการศึกษาท่ารำในสมัยต่อๆมา  นอกจากนี้ ยังทรงเป็นผู้ให้กำเนิดละครพูดที่ได้รับอิทธิพลมาจากละครตะวันตกอีกด้วย


   7.สมัยรัชกาลที่ 7  ในสมัยรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ประสบภาวะเศรษฐกิจทรุดโทรม  เสนาบดีสภาตกลงให้เลิกกรมมหรสพ  โอนกรมปี่พาทย์และโขนหลวงเข้าไปอยู่ในกระทรวงวัง  และเมื่อ พ.ศ.2476 ได้มีการตั้งกรมศิลปากรขึ้น  โดยมีหลวงวิจิตรวาทการเป็นอธิบดีท่านแรก  ซึ่งมีหน้าที่ดูแลนาฏศิลป์ไทย

    8.สมัยรัชกาลที่ 8 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลพระอัฐมรามาธิบดินทร  การแสดงนาฏศิลป์  โขน ละคร อยู่ในการกำกับดูแลของกรมศิลปากร 

      ในสมัยนี้  หลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสถาบันการเรียนการสอนศิลปะการแสดงโขน ละคร  ดนตรี ปี่พาทย์ มีการแสดงละครปลุกใจให้รักชาติ  เช่น เรื่องเจ้าหญิงแสนหวี พระเจ้ากรุงธน  เลือดสุพรรณ เป็ฮนต้น และในระหว่างสงครามครั้งที่ 2 ประชาชนนิยมเล่นรำโทนกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งกรมศิลปากรได้นำมาปรับปรุงเป็น  รำวงมาตรฐาน

   9.สมัยรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  โปรดเกล้าฯให้บันทึกภาพยนตร์สีส่วนพระองค์  บันทึกท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ  ท่ารำเพลงหน้าพาทย์ของพระ  นาง  ยักษ์  ลิง  และโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีไหว้ครู  มอบท่ารำองค์พระพิราพให้แก่ศิลปินกรมศิลปากร

      ในสมัยนี้ การแสดงละครเฟื่องฟูมาก  มีการจัดแสดงละครกันอย่างแพร่หลายทั้งละครเวที  ละครที่แพร่ภาพผ่านทางสื่อต่างๆ มีผู้ยึดอาชีพการแสดงละครเป็นจำนวนมาก นอกจากละครไทยแล้ว  ยังมีการแสดงละครตามแนวละครของชาติอื่นๆด้วย  ทั้งนี้ทางรัฐบาลได้ส่งเสริมและเชิดชูเกียรติบุคคลที่อยู่ในแวดวงศิลปะการแสดง  โดยกำหนดให้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันศิลปินแห่งชาติ



ความคิดเห็น

  1. วิวัฒนาการละคร สมัยรัตนโกสินทร์ของรัชกาลที่10มีมั้ยคะ

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บุคคลสำคัญในวงการนาฏศิลป์

เครื่องหมาย และสัญลักษณ์ในดนตรีสากล

วิวัฒนาการของดนตรีไทยในแต่ละยุคสมัย (สมัยรัตนโกสินธ์)