ความเป็นมาและวิวัฒนาการของละครไทย (สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา สมัยธนบุรี)

 1.ความเป็นมาของละครไทย

ละครไทย   มีคุณค่ามากในฐานะที่เป็นที่รวมศิลปะสาขาต่างๆ  โดยเฉพาะศิลปะแขนงวิจิตรศิลป์และประณีตศิลป์  ซึ่งเป็นศิลปะแห่งความงาม  ที่มุ่งหมายเพื่อสนองความต้องการทางอารมณ์  สติ ปัญญา ก่อให้เกิดอารมณ์และสะเทือนใจ  ซึ่งแนวทางในการศึกษาละครไทยประเภทละครรำ  ผู้เรียนต้องเข้าใจบทบัญญัติของการแสดงแต่ละประเภท  ตลอดจนขนบธรรมเนียม  คติความเชื่อการบูชาเทพเจ้า ครู ผี ในการละครไว้ด้วย

    จากหลักฐานที่ปรากฏในศิลาจารึก  ภาพเขียน  ภาพจำหลักในโบราณสถาน ภาพถ่าย  ตำราและเอกสารสิ่งพิมพ์ต่างๆ  สรุปได้ว่า  ทุกชาติทุกภาษามีการละครมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์คู่กับมนุษยชาติ  ชนชาติไทยเป็นชนชาติที่มีอารยธรรม  ขนบธรรมเนียมประเพณีมาแต่โบราณ  ซึ่งมีตำนานที่แสดงถึงประวัติความเป็นมาของการละครไทยเกี่ยวกับละครรำ ทั้งที่เป็นละครพื้นบ้านและละครของราชสำนักบันทึกไว้

     ตามตำราหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า  ละครไทยมีมาตั้งแต่ครั้งสมัยโบราณแล้ว  โดยคนไทยมีนิทานเรื่องมโนราห์  ที่มีการนำมาแสดง และเล่าเป็นนิทานสืบต่อกันมาเป็นเวลาพันๆปี  แต่ในบางช่วงก็อาจสูญหาย  เสื่อมโทรมลงไปบ้าง  ครั้นเมื่อบ้านเมืองสงบ  มีการตั้งถิ่นฐานเป็นปึกแผ่น  จึงมีการฟื้นฟูและสร้างสรรค์ศิลปะการละครขึ้นมาใหม่


    2.วิวัฒนาการของละครไทย
     ละครไทยได้เริ่มฟื้นฟูและมีการแสดงที่เป็นแบบแผนทั้งที่เป็นแบบพื้นบ้าน และแบบมาตรฐานในราชสำนัก  โดยเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมา
    2.1 สมัยสุโขทัย
     สมัยสุโขทัยได้มีการติดต่อกับชนชาติที่รับอารยธรรมอินเดีย  เช่น พม่า มอญ ขอม เป็นต้น ทำให้คนไทยได้รับวัฒนธรรมทางด้านการละครของอินเดียเข้ามา ส่งผลให้ศิลปะแห่งการละเล่นพื้นเมืองของไทย คือ รำและระบำได้วิวัฒนาการขึ้น โดยมีการกำหนดให้เป็นแบบแผนและบัญญัติคำที่เรียกศิลปะแห่งการแสดงดังกล่าวข้างต้นว่า โขน  ละคร  ฟ้อน  รำ
    การละครไทยมีวิวัฒนาการมาจากการละเล่นพื้นเมืองของไทย  และจากคติของพราหมณ์ที่มีการรำบวงสรวงตามเทวสถานในอินเดีย  จึงเกิดละครแก้บนขึ้น
    กล่าวโดยสรุป สมัยสุโขทัยมีการแสดงละครเป็นเรื่อง คือ เรื่องมโนราห์และเกิดละครแก้บน

  2.2 สมัยอยุธยา
      การละครมีวิวัฒนาการที่เป็นแบบแผน มีจารีต ความเชื่อต่างๆ ในการแสดงเกิดขึ้น โดยได้รับอิทธิพลจากอินเดีย ผ่านเข้ามาทางเขมร  ชวา และมลายู
     สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ บ้านเมืองปราศจากศึกสงคราม  จึงเป็นสมัยที่ศิลปะ โขน ละคร เจริผยรุ่งเรือง ดดยมีแบบแผนการแสดงที่เคร่งครัด มีการจัดการแสดงในราชสำนัก  กำเนิดละครใน  เรื่องที่แสดง คือ อุณรุท  อิเหนา และรามเกียรติ์
      กล่าวโดยสรุป สมัยอยุธยามีละครเกิดขึ้น 3 ชนิด คือ ละครชาตรี  ละครนอก และละครใน

   2.3 สมัยธนบุรี 
    สมัยธนบุรี เจ้าฟ้าพินทวดี ได้สืบทอดท่ารำละครในจากสมัยอยุธยา และได้ละครผู้หญิงของเจ้านครศรีธรรมราชมาเป็นครูฝึกหัดละครใน  สมัยนี้ยังถือเป็นราชประเพณีว่า ละครผู้หญิงจะมีได้แต่เฉพาะภายในพระราชฐาน  และยังมีละครหลวงที่แสดงโดยผู้ชายเกิดขึ้นอีกด้วย
    นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ยังสนพระทัยในศิลปะการแสดงนาฏศิลป์และละคร ทรงกำกับและดูแลการฝึกซ้อมด้วยพระองค์เอง  ทรงพระราชนิพนธ์บทละครใน เรื่องรามเกียรติ์ ตอนหนุมานเกี้ยวนางวาริน ตอนท้าวมาลีวราชว่าความ ตอนทศกัณฐ์ตั้งพิธีทรายกรด (เผารูปเทวดา) ตอนพระลักษณ์ถูกหอกกบิลพัท และตอนปล่อยม้าอุปการ  ทรงมีพระราชประสงค์จะให้ละครหลวงนำออกแสดง โดยที่พระองค์ทรงแก้ไขให้บทละครเหมาะสมกลมกลืนกับการแสดง  นอกจากเรื่องรามเกียรติ์แล้ว บทที่ละครหลวงใช้แสดงยังมีเรื่องอิเหนาที่เป็นบทละครครั้งกรุงศรีอยุธยาด้วย
     ละครของเอกชนในสมัยธนบุรีมีหลายโรงด้วยกัน เช่น ละครหลวงวิชิณรงค์  ละครหมื่นเสนาะภูบาล  และละครหมื่นไวหารภิรมย์ เป็นต้น นอกจากละครไทยแล้ว ยังมีละครเขมรของหลวงพิพิธวาที อีกด้วย
    กล่าวโดยสรุป สมัยธนบุรีบทละครมาจากสมัยอยุธยา มีละครใน ละครนอก และละครของเอกชน


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บุคคลสำคัญในวงการนาฏศิลป์

เครื่องหมาย และสัญลักษณ์ในดนตรีสากล

วิวัฒนาการของดนตรีไทยในแต่ละยุคสมัย (สมัยรัตนโกสินธ์)