การแสดงนาฏศิลป์พื้นเมืองของไทยในแต่ละท้องถิ่น (ภาคเหนือและภาคกลาง)

       การแสดงนาฏศิลป์พื้นเมือง เป็นการแสดงที่เน้นความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น  ท่ารำ  เพลงร้องและดนตรีได้รับการสั่งสมสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ   ซึ่งคิดประดิษฐ์ท่ารำขึ้นจากพื้นฐานความเป็นอยู่ของชาวบ้าน  การแต่งกายจะแต่งตามลักษณะของท้องถิ่น

        สังคมชาวบ้าน  เป็นสังคมเกษตรกรรมอาศัยธรรมชาติเลี้ยงชีพ    จึงมีพิธีกรรมการละเล่นเพื่อขอพรให้พืชผลอุดมสมบูรณ์  สะท้อนออกมาเป็นศิลปะพื้นบ้าน  เช่น ภาคเหนือ ลักษณะการแสดงจะเชื่องช้า  ได้แก่ ฟ้อนต่างๆ ภาคกลางจะเน้นที่ลำนำการขับกลอน  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีจังหวะคึกคัก   กระฉับกระเฉง  แสดงออกให้เห็นความสนุกสนานร่าเริง   ภาคใต้จะเน้นที่จังหวะเป็นสำคัญ เป็นต้น

     การแสดงพื้นเมืองของไทยแต่ละท้องถิ่น  จะสะท้อนให้เห็นศิลปะ  วัฒนธรรม  ประเพณี  เอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น  ตลอดจนจิตวิญญาณของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่นมีลักษณะอย่างไร   ดังนั้น  การแสดงพื้นเมืองแต่ละภาค  จึงมีลีลาการแสดงที่แตกต่างกัน  ซึ่งการแสดงพื้นเมืองในแต่ละ  สามารถสรุปได้ ดังนี้

       1. การแสดงนาฏศิลป์พื้นเมืองภาคเหนือ    

       การแสดงนาฏศิลป์พื้นเมืองภาคเหนือ  เรียกว่า ฟ้อน   ภาคเหนือมีการฟ้อนที่แบ่งได้ 2 กลุ่ม  คือ กลุ่มฟ้อนแบบดั้งเดิม  และกลุ่มฟ้อนที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมหลวง

         1) กลุ่มฟ้อนแบบดั้งเดิม  ช่างฟ้อนเป็นชาวบ้าน  ทำหน้าที่สืบทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษมาหลายชั่วอายุคน  ลีลาท่าฟ้อนไม่เคร่งครัดต่อระเบียบแบบแผนนัก  เป็นการเลียนแบบการเคลื่อนไหวของมนุษย์แตกต่างกันไปตามเผ่าพันธุ์ และความเชื่อของกลุ่มชนนั้นๆ  เช่น  ฟ้อนเงี้ยวของไทยใหญ่  ฟ้อนม่านของพม่า  เป็นต้น  ลีลาท่าฟ้อนจะสะท้อนความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย

       2) กลุ่มฟ้อนที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมหลวง  ผู้ฟ้อนจะเป็นเจ้านายเชื้อพระวงศ์ฝ่ายใน  จะฟ้อนเฉพาะงานที่สำคัญในเขตพระราชฐาน  อาทิ การต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองในคุ้มเจ้าหลวง  ลักษณะลีลาท่าฟ้อนมีระเบียบแบบแผน ประณีต  งดงาม  ถ่ายทอดมาจากราชสำนัก  ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างของการฟ้อนภาคเหนือ คือ ฟ้อนเล็บ

ฟ้อนเล็บเป็นศิลปะการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ทางภาคเหนือโดยเฉพาะรูปแบบการฟ้อนมีอยู่ 2 แบบ คือแบบพื้นเมืองหรือฟ้อนเมือง และแบบคุ้มเจ้าหลวง กระบวนท่ารำเป็นลีลาท่าฟ้อนที่มีความงดงามเช่นเดียวกับฟ้อนเทียน เพลงแต่ไม่ถือเทียน นิยมฟ้อนในเวลากลางวัน สำหรับชื่อชุดการแสดงจะมีความหมายตามลักษณะของผู้แสดงที่จะสวมเล็บยาวสีทองทุกนิ้ว ยกเว้นนิ้วหัวแม่มือ

ฟ้อนเล็บของกรมศิลปากร ได้รับรูปแบบการฟ้อนจากคุ้มเจ้าหลวงเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ พระราชชายาดารารัศมี เป็นผู้ปรับปรุง ซึ่งได้นำมาเผยแพร่ที่กรุงเทพมหานครในคราวสมโภชพระเศวตคชเดชน์ดิลก ช้างเผือกในรัชกาลที่ 7 เมื่อ พ.ศ. 2470 แล้วนางลมุล ยมะคุปต์ ผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ไทย วิทยาลัยนาฏศิลป์  กรมศิลปากร ได้นำมาฝึกให้ละครคณะหลวงในรัชกาลที่ 7 และถ่ายทอดให้ เป็นชุดการแสดงของกรมศิลปากรโดยมีเนื้อร้องประกอบการแสดง เพื่อเป็นการบวงสรวงหรือฟ้อนต้อนรับตามประเพณีทางภาคเหนือ

ผู้แสดง ฟ้อนแต่ละชุดจะใช้จำนวนคนแตกต่างกันไป นิยมกันมี 4 คู่ 6 คู่ 8 คู่ หรือ 10 คู่

การแต่งกาย จะแต่งกายแบบไทยชาวภาคเหนือสมัยโบราณ คือ เกล้าผมทัดดอกไม้และอุบะ นุ่งผ้าตามแบบชาวเหนือ สวมเสื้อทรงกระบอกแขนยาว คอกลมห่มสไบเฉียง นุ่งผ้าซิ่นลายขวาง และ สวมเล็บมือยาว 8 นิ้ว เว้นแต่นิ้วโป้งหรือนิ้วหัวแม่มือ

ท่ารำ ผู้แสดงจะร่ายรำตามทำนองเพลงที่เชื่องช้า ส่วนการใช้ท่าฟ้อนเล็บนั้น ช่างฟ้อนมักจะจำต่อ ๆ กันมา เป็นท่าฟ้อนดั้งเดิมของชาวเหนือ คือ

  1. ท่าพายเรือ
  2. ท่าบัวบานบิด
  3. ท่าหย่อน
  4. ท่าพัก
  5. บังสุริยา
  6. ไหว้
  7. ท่าหงส์
  8. ท่านกยุง
  9. ท่าเปิด

ต่อมาเมื่อนาฎศิลป์ทางภาคกลางแพร่มาสู่ภาคเหนือ การฟ้อนเล็บก็มีการปรับวิธีการฟ้อนให้เข้ากับท่ารำแม่บท เพิ่มท่ารำให้มากขึ้นและแตกต่างกันไป

ดนตรี เครื่องดนตรีที่ใช้ในการฟ้อนเป็นวงกลองตึ่งโนง วงต๊กเส้ง หรือวงปี่พาทย์ล้านนา (นิยิมใช้กับฟ้อนเล็บแม่ครูบัวเรียว) ซึ่งเป็นดนตรีของชาวภาคเหนือ ได้แก่ กลองแอว กลองตะโล้ดโป๊ด ฉาบ ฆ้องโหม่งใหญ่  ฆ้องโหม่งเล็ก ฉิ่ง ปี่แนน้อย ปี่แนหลวง แต่ถ้าเป็นวงต๊กเส้ง จะเพิ่ม สิ้ง มาด้วย เวลาดนตรีบรรเลงเสียงปี่ดังไพเราะเยือกเย็นมาก ท่วงทำนองเชื่องช้า เสียงกลองจะตีดัง ต๊ก สว่า ตึ่ง นง อย่างนี้เรื่อยไป ส่วนช่างฟ้อนก็จะฟ้อนช้า ๆ ไปตามลีลาของเพลง เพลงที่ใช้บรรเลงฟ้อนเล็บจะแบ่งตามท้องถิ่นหลักของแต่ละที่จะใช้เพลงฟ้อนเล็บต่างกัน

โอกาสที่จะการแสดงไปใช้   ใช้แสดงในโอกาสที่สำคัญ  หรือแสดงในงานมงคลต่างๆ  เช่น งานสมโภช  งานต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง   งานบุญต่างๆ  วันสงกรานต์ และเผยแพร่ให้ประชาชนได้ชมทั่วไป ปัจจุบันการแสดงฟ้อนเล็บนำมาแสดงในทุกโอกาสที่เป็นงานสังสรรค์รื่นเริงทั่วไป




2. การแสดงนาฏศิลป์พื้นเมืองภาคกลาง

การแสดงนาฏศิลป์หรือการละเล่นพื้นเมืองภาคกลาง มีหลายประเภท แต่ละประเภทจะเล่นกันในหน้าเทสกาลบ้าง  เล่นกันในงานรื่นเริงทั่วๆไปบ้าง  บางประเภทเป็นการ้องโต้ตอบกัน อาทิ เพลงเรือ ลำตัด การแสดงพื้นเมืองที่นิยมเล่นกัน เช่น ลิเก  รำวง เต้นกำรำเคียว กลองยาว เป็นต้น  ในที่นี้จะกล่าวถึงการแสดงพื้นเมืองที่เรียกว่า   กลองยาว   เพื่อจะได้รับทราบไว้เป็นแนวทางในการศึกษา ดังนี้

รำกลองยาว  เป็นศิลปะการละเล่นและร่ายรำประกอบการตีกลองยาวของคนไทย  ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากและมีการเล่นแพร่หลายที่สุดในแถบภาคกลาง สันนิษฐานว่าแต่เดิมจะเป็นการละเล่นของทหารพม่ายามว่างศึกษ  ในสมัยสงครามปลายกรุงศรีอยุธยาเข้าใจว่าคนไทยได้เห็นรูปแบบและนำมาเล่นบ้างในช่วงสมัยกรุงธนบุรี  เพราะศิลปะการตีกลองมีความสนุกสนาน เล่นง่าย เครื่องดนตรีไม่แตกต่างจากของไทยมากนัก  ส่วนคำว่า เถิดเทิง น่าจะมีที่มาจากเสียงของกลองยาวนั่นเอง  นอกจากนี้ยังมีหลักฐานสนันสนุนจากชื่อเพลงไทยสำเนียงพม่าที่กล่าวถึงกลองยาว คือ เพลงพม่ากลองยาวและเพลงพม่ารำขวาน  ที่ใช้กลองยาวตีเป็นเครื่องตีประกอบจังหวะ 

       การรำกลองยาว หรือ เล่นถิดเทิงบ้อง นี้ มักนิยมแสดงในงานบุญที่มีการรื่นเริง เช่น แห่นาคในงานอุปสมบท  แห่องค์กฐิน  ผ้าป่า  แห่ขบวนขันหมาก โดยชาวบ้านมาร่วมขบวนแต่งหน้าประแป้ง  ทัดดอกไม้ให้สวยงาม ร่ายรำออกลีลาต่างๆ  อย่างครื้นเครง  บ้างยั่วเย้ากันระหว่างหนุ่มสาว พวกที่ตีกลองและเครื่องประกอบจังหวะก็ร้องเพลงสั่นๆ เรียกว่า เพลงยั่ว เช่น มาละเหวย มาละวา มาแต่ของเขาของเราไม่มา ตะละลา ฮุยฮา เพื่อเพิ่มความสนุกสนานมากยิ่งขึ้น

       ต่อมากรมศิลปากร  โดยนาฏศิลปิน ได้ปรับปรุงการละเล่นทั้งรูปแบบการแสดง ท่าร่ายรำของการเล่นเถิดเทิงให้มีลีลาท่ารำที่สวยงามเป็นแบบแผนขึ้นและเรียกการแสดงนี้ว่า รำเถิดเทิงโดยมีฝ่ายชายเป็นผู้ตีกลองประกอบจังหวะและร่ายรำประกอบการตีกลองยาวในท่าทางที่โลดโผนต่างๆ ส่วนฝ่ายหญิงจะรำเข้ากับจังหวะกลองยาวสลับกับท่าทางการตีกลองเย้าหยอกกับฝ่ายชายซึ่งการแสดงชุดนี้ต่อมาเป็นชุดที่นิยมแสดงกันอย่างแพร่หลาย

          ลักษณะและวิธีการแสดง

      การรำเถิดเทิง ผู้แสดงจะแบ่งออกเป็นฝ่ายชายและฝ่ายหญิง

     ฝ่ายชาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม

    1. กลองรำ  หมายถึง ผู้แสดงที่ต้องร่ายรำประกอบการตีกลองยาวเข้าคู่กับฝ่ายหญิง

   2. กลองยืน หมายถึง ผู้แสดงที่ทำหน้าที่ตีกลองยาวและเครื่องประกอบจังหวะเพื่อยืนจังหวะทำนองให้ผู้รำได้รำตามที่บรรเลง

    ฝ่ายหญิง  ได้แก่ นางรำ  หมายถึง ผู้แสดงหญิงที่ฝ่ายชายผู้เล่นเป็นกลองรำไปเชิญ หรือโค้งออกมารำ  ่สวนจำนวนของผู้แสดงขึ้นอยู่กับความต้องการและโอกาสของการแสดงนั้นๆ ด้วย เช่นจำนวนผู้แสดงกลองยืนอย่างน้อยต้องมี 7 คน และกลองรำ 2 คน นางรำ 2 คน  ส่วนจำนวนกลองรำและนางรำนั้น มักนิยมเป็นจำนวนคู่ เช่น  รำ 2 คู่ 4 คู่

   เครื่องดนตรีประกอบการแสดง

   1. กลองยาว 

  2. ฉิ่ง

  3.ฉาบใหญ่  

  4. ฉาบเล็ก

  5. กรับ

  6. โหม่ง

   ลักษณะการแต่งกาย

    การแต่งกายของการรำเถิดเทิงกรมศิลปากร ได้ออกแบบชุดการแสดงไว้โดยมีลักษณะ ดังนี้

    1. ฝ่ายชาย สวมเสื้อคอกลม แขนสั้นหรือที่เรียกว่า เสื้อคอพวงมาลัย นิยมตัดเย็บด้วยผ้าต่วน หรือผ้าโซลอน  สีสดใส สวมกางเกงขาสามส่วนสีเดียวกันกับเสื้อ ที่ปลายขามีเชิง คาดศีรษะและเอวด้วยผ้าคาดต่างๆสีกับชุดที่สวมใส่

   2. ฝ่ายหญิง  สวมเสื้อแขนกระบอก คอตั้ง ผ่าหน้าติดกระดุม นุ่งผ้าซิ่น นิยมตัดเย็บแบบสำเร็จรูป ห่มสไบทับเสื้อ สวมเครื่องประดับ ได้แก่ เข็มขัด สังวาล  สร้อยคอ ต่างหู ที่ศีรษะทัดดอกไม้ให้สวยงาม

  โอกาสในการแสดง

  แสดงในงานรื่นเริง  งานเทศกาล งานต้อนรับ แขกบ้านแขกเมือง  งานมงคลต่างๆ






ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บุคคลสำคัญในวงการนาฏศิลป์

เครื่องหมาย และสัญลักษณ์ในดนตรีสากล

วิวัฒนาการของดนตรีไทยในแต่ละยุคสมัย (สมัยรัตนโกสินธ์)