การแสดงนาฏศิลป์พื้นเมืองของไทยในแต่ละท้องถิ่น (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคใต้)

         3. การแสดงนาฏศิลป์พื้นเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
         การแสดงมีหลายชนิดแตกต่างกันไปตามวัธนธรรมท้องถิ่น โดยหลักใหญ่แล้วภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะแบ่งกลุ่มวัฒนธรรมออกเป็น 3 กลุ่มวัฒนธรรม คือ 1.กลุ่มวัฒนธรรมหมอลำ ได้แก่จังหวัด ร้อยเอ็ด มหาสารคาม  กาฬสินธ์  ขอนแก่น  อุดรธานี  หนองบัวลำภู เลย หนองคาย ชัยภูมิ  นครพนม  บึงกาฬ  มุกดาหาร  ยโสธร  อำนาจเจริญ   อุบลราชธานี  ซึ่งจะเป็นหมอลำในทำนองหรือสังวาสต่างๆ  เช่น ลำกลอน  ลำหมู่ ทำนองขอนแก่น  ลำหมู่ทำนองสารคาม  ลำหมู่ทำนองกาฬสินธ์  ลำหมู่ทำนองอุบล  ลำหมู่ทำนองลำเพลิน  ลำผีฟ้า  ลำภูไท  ลำตังหวาย  ลำผญา  เป็นต้น และในกลุ่มนี้ก็จะมีการละเล่นอื่นๆอีก เช่น เซิ้งบั้งไฟ  เซิ้งสวิง  เซิ้งกระติบข้าว  เซิ้งแหย่ไข่มดแดง เซิ้งโปงลาง  ฟ้อนตังหวาย  ฟ้อนโหวด  รำภูไทสามเผ่า รำแพรวากาฬสินธ์  ฟ้อนลำเพลิน เป็นต้น  ซึ่งการละเล่นเหล่าจะบรรเลงโดยวงดนตรีพื้นบ้านอีสาน หรือที่เรียกกันในชื่อ  วงโปงลาง  
       2.กลุ่มวัฒนธรรมกันตรึม ได้แก่ จังหวัดสุรินทร์   บุรีรัมย์ และศรีษะเกษ  ซึ่งจะมีการแสดงพื้นเมืองได้แก่ เรือมอัปสรา  เรือมอันเร  ใช้วงกันตรีมในการบรรเลง ภาษาที่ใช้ขับร้อง คือภาษาเขมร
      3.กลุ่มวัฒนธรรมเพลงโคราช  ได้แก่พื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์บางส่วน เช่น อำภอนางรอง 
   ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะขอนำเสนอเพื่อให้ได้ศึกษา ดังต่อไปนี้
    1.เซิ้งกระติบ
     กระติบข้าว หรือภาษาอีสานบางแห่งเรียกว่าก่องข้าว เป็นภาชนะใช้สำหรับใส่ข้าวเหนียว ที่ทรงคุณค่ามากด้วยภูมิปัญญา เก็บความร้อนได้ดี ในขณะที่ยอมให้ไอน้ำระเหยออกไปได้ ทำให้ข้าวเหนียวที่บรรจุอยู่ภายในกระติบหรือก่องข้าวไม่แฉะด้วยไอน้ำ (ต่างจากกระติกน้ำแข็งที่เก็บความร้อนได้แต่ไม่ยอมให้ไอน้ำระเหยออก ข้าวเหนียวจึงเปียกแฉะ)  ภูมิปัญญานี้มีเคล็ดลับอยู่ที่การสานกระติบเป็นสองชั้น ชั้นในสุดจะสานด้วยตอกให้มีตาห่างเล็กน้อย เพื่อให้ไอน้ำระเหยออกจากข้าวผ่านช่องว่างภายในกระติบข้าวชั้นในได้ ในขณะที่ชั้นนอกสุดจะสานด้วยตอกที่มีความชิดแน่นหนากว่าเพื่อเก็บกักความร้อนไว้ ไอน้ำที่มีความร้อนอยู่ภายในช่องว่างนี้ จะช่วยทำให้ข้าวเหนียวที่อยู่ภายในกระติบข้าว ยังคงความร้อนได้อีกนาน โดยเมล็ดข้าวจะไม่มีไอน้ำเกาะ จึงไม่แฉะเหมือนกับการบรรจุในภาชนะพลาสติกยุคใหม่   ฝาปิดและตัวกระติบ จะมีลักษณะที่เหมือนกัน เพียงแต่มีขนาดที่ต่างกันเล็กน้อยให้สามารถสวมใส่กันได้พอดี ในส่วนตัวกระติบจะมีฐานรอง ขดเป็นวงกลม มีขนาดเล็กกว่าตัวกระติบเล็กน้อย ยึดด้วยหวายหรือไนล่อนให้ติดกับตัวกระติบ

       เซิ้งกระติบข้าว เป็นการแสดงของภาคอีสานที่เป็นที่รู้จักกันดี และแพร่หลายที่สุดชุดหนึ่ง จนทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า การแสดงของภาคอีสานมีลักษณะเป็นการรำเซิ้งเพียงอย่างเดียว
เซิ้งกระติบข้าวได้แบบอย่างมาจากการเซิ้งบั้งไฟ ซึ่งแต่เดิมนั้น เซิ้งบั้งไฟในขบวนแห่ หรือเซิ้งในขบวนแห่ต่างๆ ไม่มีท่าฟ้อนรำที่อ่อนช้อย เป็นเพียงยกมือร่ายรำ(ยกมือสวกไปสวกมา)ให้เข้ากับจังหวะกลองและรำมะนาเท่านั้น

     ดนตรี   ใช้วงโปงลางบรรเลงลายเต้ยโขง
     อุปกรณ์ประกอบการแสดง  กระติบข้าว
    การแต่งกาย ผู้แสดงใช้ผู้หญิงล้วน สวมเสื้อแขนกระบอกคอกลมสีพื้น นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่ ห่มผ้าสไบเฉียง ผมเกล้ามวยทัดดอกไม้ห้อยกระติบข้าวทางไหล่ซ้ายเฉีียงไปทางขวา



     ฟ้อนโหวด
     โหวด เป็นเครื่องดนตรีประเภทเป่าชนิดหนึ่ง และถือได้ว่า “โหวด” เป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดร้อยเอ็ด ทำด้วยลูกแคนแต่ไม่มีลิ้น โดยนำเอากู่แคนจำนวนประมาณ 7 ถึง 13 อันมาตัดให้ได้ขนาดลดหลั่นกันให้ปลายทั้งสองข้างเปิด ปลายด้านล่างใช้ขี้สูดปิดให้สนิท ส่วนปลายบนเปิดไว้สำหรับเป็นรูเป่า โดยนำเอากู่แคนมารวมกันเข้ากับแกนไม้ไผ่ที่อยู่ตรงกลาง จัดลูกแคนล้อมรอบในลักษณะทรงกลม ตรงหัวโหวดใช้ขี้สูดก่อเป็นรูปกรวยแหลม เพื่อใช้เป็นฐานสำหรับจรดฝีปากด้านล่าง และให้โหวดหมุนได้รอบทิศเวลาเป่า
     ฟ้อนโหวด เป็นชุดการแสดงที่จัดทำขึ้นใหม่โดยภาควิชานาฏศิลป์ไทย วิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด ด้วยการนำลักษณะของช่างประดิษฐ์โหวด มาปรับปรุงเป็นท่าฟ้อนทีมีความอ่อนช้อยสวยงาม สามารถสะท้อนให้เห็นถึงกรรมวิธีการประดิษฐ์โหวดได้อย่างชัดเจน โดยเริ่มจาก ฝ่ายชายเข้าป่าไปหาตัดไม้กู่แคน นำมาตากแห้ง เลือกตัด ตกแต่ง ติดขี้สูดประกอบเข้ากับแกนโหวด เทียบเสียง แกว่งโหวดทดสอบ แล้วฝ่ายหญิงออก มาแสดงความร่าเริง สนุกสนาน ปิดท้ายด้วยการที่ฝ่ายชายออกมาเกี้ยวพาราสี หยอกล้อกัน
       ฟ้อนโหวด   ประกอบไปด้วยท่าจากท่าฟ้อนแม่บทอีสานเช่น ท่านาคเกล้าเกี้ยว ท่าอุ่นมโนราห์ ท่าบัวคว่ำบัวหงาย ฯลฯ
        ดนตรี   บรรเลงด้วยวงโปงลาง ลายเค้าอ่านคอน ลายอ่านหนังสือน้อย ลายกลอนเขิน ลายพรานเดินดง และลายเมยกินโป่ง
       การแต่งกาย
- หญิง สวมเสื้อไม่มีแขนสีดำ เบี่ยงผ้าสไบด้วยผ้าจกไทแดงหรือผ้าไหมแพรวาสีแดง นุ่งซิ่นไทลื้อยาวกรอมเท้า ผมเกล้ามวย ประดับดอกไม้และหวีเงินสับมวยผม สวมเครื่องประดับเงิน
- ชาย สวมเสื้อสีแดงแขนตั้งผ่าหน้าติดกระดุม นุ่งผ้าโจงกระเบนพับชายหยักรั้งมาด้านหน้า ใช้ผ้าสไบขิดสีดำ โพกศีรษะและมัดเอว


        เรือมอันเร
      เรือม แปลว่า "รำ"  อันเร  แปลว่า "สาก"  ดังนั้น เรือมอันเร จึงแปลว่า การรำสาก  

การเรือมอันเร  นั้น จะเล่นกันในช่วงของวันหยุดสงกรานต์ โดยชาวบ้านจะเล่นเรือมอันเรที่ลานบ้านหรือว่าลานวัด

    เครื่องดนตรี การเรือมอันเรมีการใช้เครื่องดนตรีประกอบคือ  กลองโทน 1 คู่ ปี่ใน 1 เลา ซออู้เสียงกลาง 1 คัน ฉิ่ง  กรับ  ฉาบ อย่างละ 1 คู่ และมีอุปกรณ์ประกอบการเล่นเรือมอันเร คือ สาก 2  อัน ยาวประมาณ 2-3 เมตร  ทำจากไม้เนื้อแข็ง มีหมอนวางรองหัว- ท้ายสาก   มีความยาว 1.50 เมตร สูงประมาณ 3-4 นิ้ว

    ทำนองและจังหวะในการรำ  ในการรำในสมัยก่อนมีเพียง 3  จังหวะ  คือ จังหวะจืงมูย(ขาเดียว)  จังหวะมลปโดง(ร่มมะพร้าว)  จังหวะจืงปีร์(สองขา)  ต่อมามีการพัฒนาท่ารำเพิ่มขึ้นรวมเป็น 5 จังหวะ  ดังนี้
       จังหวะไหว้ครู
       จังหวะกัจปกา
       จังหวะจืงมูย
       จังหวะมลปโดง
       จังหวะจืงปีร์

     ท่าฟ้อนรำ  ในสมัยก่อนไม่มีท่ารำที่เป็นแบบแผนแน่นอน  เพราะว่าเป็นการรำเพื่อความสนุกสนานในยามพักผ่อน  ส่วนมากผู้ที่อยู่ในวงรำสากจะเป็นหญิงล้วน  ส่วนหนุ่มๆจะมาเป็นกลุ่มยืนชมสาวที่กำลังรำอยู่ หากชอบคนไหนก็เข้าไปรำด้วย  แต่ในปัจจุบันการเรือมอันเรได้มีการพัฒนาไปสู่แบบแผน  และเนื่องจากมีการส่งเสริมและฟื้นฟูประเพณีคล้องช้างประจำปี(งานแสดงช้าง)จ.สุรินทร์ การเล่นเรือมอันเร จึงกลายเป็นส่วนประกอบสำคัญของงาน เพราะมีการนำเอาเรือมอันเรมาแสดงในงานช้างทุกปี แลยังใช้แสดงเพื่อต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองที่มาเยือนอีกด้วย
    การแต่งกาย
    แต่เดิมไม่พิถีพิถัน  แต่งกายตามสบาย  แต่หากแต่งให้สวยงามตามประเพณีแต่โบราณ คือ ชาย นุ่งโจงกระเบน   สวมเสื้อคอกลมแขนสั้น  ผ้าขาวม้าคาดเอวและพาดไหล่  
หญิง นุ่งผ้าไหมพื้นเมือง เรียกว่า "ซัมป็วตโฮล" สวมเสื้อแขนกระบอกมีสไบพาดไหล่มามัดรวบไว้ที่ด้านข้าง สวมเครื่องประดับเงิน   และมีดอกไม้ทัดผม







                                                            ตัวอย่างเพลงโคราช

ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแสดงพื้นเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ที่   http://www.isan.clubs.chula.ac.th/folkdance/index.php?transaction=nakornpanom04.php 


    4. การแสดงนาฏศิลป์พื้นบ้านภาคใต้  
    การแสดงนาฏศิลป์พื้นเมืองภาคใต้สะท้อนให้เห็นค่านิยมที่ดินในท้องถิ่น  ได้รับการฝึกฝน อบรมให้เคารพกติกาของสังคม  ที่มีบทบาทต่อความเชื่อ  พิธีกรรม  เช่น หนังตะลุง  โนรา  และด้วยเหตุที่ภาคใต้มีวัฒนธรรมมุสลิม  ซึ่งไม่นิยมให้สตรีเข้าสังคมกับสภาพบุรุษในยุคแรกๆ  การแสดงจึงจำกัดอยู่เฉพาะสตรี  ต่อมาเมื่อรับวัฒนธรรมตะวันตก  จึงมีการแสดงร่วมกันระหว่างชาย - หญิง  เช่น  การเต้นรองเง็ง  ซัมเปง  แต่ลักษณะในการเต้นยังไม่มีการจับคู่แบบตะวันตก  เป็นแค่เพียงชายและหญิง ต่างคนต่างเดิน โดยไม่ถูกเนื้อต้องตัวกัน
    การแสดงนาฏศิลป์พื้นเมืองภาคใต้มีหลายชนิด  แต่ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะนาฏศิลป์พื้นเมืองที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นเพื่อเป็นตัวอย่าง  คือ การเต้นรองเง็ง
 
      รองเง็ง

          เป็นการแสดงประเภทศิลปะการเต้นรำประกอบดนตรี ของคนพื้นเมืองในแถบ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ตลอดจนเมืองต่างๆ ของมาเลเซียตอนเหนือ เช่น กะลันตัน ไทรบุรี ปาหัง  ตรังกานู ล้วนเป็นที่นิยมเล่นกันทั่วไปและแพร่ไปถึงอินโดนีเซีย
       กล่าวกันว่า รองเง็งได้รับอิทธิพลแบบอย่างมาจากชาวยุโรป คือ ปอร์ตุเกส สเปน ซึ่งเดินเรือเข้ามาติดต่อค้าขาย สร้างคลังสินค้า และตั้งเป็นอาณานิคมขึ้นในย่านนี้ เมื่อถึงเทศกาลคริสต์มาส ปีใหม่ มีงานรื่นเริงใดๆ พวกฝรั่งซึ่งมีการเต้นรำขึ้น ซึ่งก็เต้นรำกันสนุกสนาน ชาวมลายูพื้นเมืองเห็นเป็นแบบอย่างจึงนำมาฝึกซ้อมหัดเล่นขึ้นบ้าง โดยเริ่มแรกฝึกหัดจัดแสดงกันอยู่ในวงแคบ เฉพาะแต่ในบ้านขุนนางและวังเจ้าเมืองสุลต่าน เพื่อต้อนรับแขกเหรื่อหรือเวลามีงานรื่นเริงต่างๆ เป็นการภายใน ภายหลังจึงได้แพร่หลายออกสู่ชาวพื้นเมือง
       ในยุคแรกการแสดงรองเง็งยังอยู่ในวงจำกัด ใช้ผู้หญิงข้าทาสบริวารฝึกหัดกัน เนื่องจากวัฒนธรรมมุสลิมไม่นิยมให้สตรีเข้าสังคมใกล้ชิดกับบุรุษอย่างประเจิดประเจ้อ  ต่อมาจึงใช้รองเง็งเป็นการแสดงสลับฉากฆ่าเวลาขณะเมื่อการแสดงละครมะโย่งหยุดพักครั้งละ 10-15 นาที เพื่อให้เกิดความสนุกสนานเชิญให้ผู้ชมลุกขึ้นมาร่วมวงด้วย ในที่สุดรองเง็งจึงได้พัฒนารูปแบบจนเป็นที่ถูกใจชาวบ้าน มีการตั้งคณะรองเง็งขึ้นรับจ้างไปแสดงตามงานต่างๆ ทำนองคณะรำวงรับจ้างของไทย

       การแต่งกาย ผู้ชายสวมหมวกหนีบไม่มีปีก (หรือที่เรียกหมวกแขก) สีดำหรือบางทีอาจจะสวม “ชะตางัน” หรือโพกผ้าแบบเจ้าบ่าวมุสลิมก็ได้ นุ่งกางเกงขากว้าง (คล้ายกางเกงขาก๊วยของคนจีน) ใส่เสื้อคอกลมแขนยาวผ่าครึ่งอกสีเดียวกับกางเกง ใช้ผ้าหน้าแคบคล้ายผ้าขาวม้าเรียก “ผ้าลิลินัง” หรือ “ผ้าซาเลนดัง” เป็นผ้าไหมยกดอกดิ้นทองดิ้นเงินผืนงาม พันรอบสะโพกคล้ายนุ่งโสร่งสั้นทับกางเกงอีกชั้นหนึ่ง
       ผู้หญิง ใส่เสื้อเข้ารูปแขนกระบอกเรียกเสื้อ “บันดง” ยาวคลุมสะโพก ผ่าอกตลอด ติดกระดุมทอง เป็นแถวยาว นุ่งผ้าถุงสีหรือลายยาวกรอมเท้า มีผ้าผืนยาวบางๆ คลุมไหล่ให้สีตัดกับสีเสื้อ
       เครื่องดนตรีและเพลง เครื่องดนตรีมี 1. กลองรำมะนา 2. ฆ้อง    3.ไวโอลิน (เป็นเครื่องดนตรีหลักที่สำคัญ) เพลงที่นิยมใช้เต้นรำมีราว 7 เพลง คือ

  1. เพลงลาฆูดูวอ เป็นเพลงเร็ว ชื่อเพลงหมายถึง “เพลงที่สอง”
  2. เพลงลานัง เป็นเพลงเร็วและช้าสลับกัน ชื่อเพลงหมายถึง น้ำใสที่ไหลหยด น้ำตาที่ไหลปีติ
  3. เพลงปูโจ๊ะปิซัง ชื่อเพลงหมายถึง “ยอดตอง” เปรียบเสมือนยอดแห่งความรักที่กำลังสดชื่น
  4. เพลงจินตาซายัง ชื่อเพลงหมายถึง ความสำนึกในความรักอันดูดดื่ม
  5. เพลงอาเนาะดีดิ ชื่อเพลงหมายถึง ลูกบุญธรรมหรือลูกสุดที่รัก
  6. เพลงมะอีนังชวา เป็นเพลงช้าชื่อเพลงหมายถึง แม่นมหรือพี่เลี้ยงชาวชวา ได้ท่ารำคำร้องเดิมมาจากชวา
  7. เพลงมะอีนังลามา ชื่อเพลงหมายถึง แม่นมหรือพี่เลี้ยง เป็นเพลงเก่าแก่

       ลักษณะการเต้นรำ เมื่อดนตรีขึ้นเพลง ผู้ชายจะไปโค้งฝ่ายหญิงแล้วพากันไปเต้นรำเป็นคู่ๆ ตามจังหวะเพลง มีทั้งช้าและเร็วหรือสลับกัน กระบวนท่ามีทั้งท่ายืน ท่านั่ง ปรบมือ เล่นเท้า หมุนตัว วาดลวดลายไล่เลียงกันด้วยความชำนาญ และเข้ากับจังหวะเพลงอย่างสวยงามน่าดู สนุกสนาน เร้าใจ การเต้นรำจะไม่ถูกเนื้อต้องตัวกัน เน้นความสุภาพ ความอ่อนช้อย ไม่หยาบโลน เน้นศิลปะความสวยงาม




            หนังตะลุง

           เป็นการแสดงที่นิยมแพร่หลายที่สุดทั่วคาบสมุทรทะเลใต้ เช่น ชวา สุมาตรา แหลมมลายู และ ดินแดนอื่นๆ รวมทั้งภาคกลาง ภาคอีสานของไทยอีกด้วย ซึ่งต้นกำเนิดดั้งเดิมเชื่อว่ามาแต่อินเดียอันเป็นรากเหง้าทางศิลปวัฒนธรรมของดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียกว่า “การเล่นเงา” (ฉายนาฏกะ) ต่อมาจึงได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงเป็นแบบฉบับของพื้นเมือง ตั้งแต่สมัยตามพรลิงค์หรือศรีวิชัย และเรียกชื่อแตกต่างกันไป เช่น ชวามลายู เรียก “วายัง” หรือ “วายังกุลิต” วายัง = เงา กุลิต = หนังสัตว์ ถ้าเป็นหนังวายังสมัยใหม่ระบายสีธรรมชาติเรียก “ปะตอง วายังกุลิต” เขมรเรียก “สะเบ็ก” และชาวมลายูเรียกหนังตะลุงของไทยว่า “วายังเสียม” แปลว่าหนังตะลุงสยาม ซึ่งมีรูปร่างต่างจากมลายู เหตุทั้งนี้เพราะรูปหนังตะลุงทุกชาตินิยมทำจากหนังสัตว์ เช่น หนังวัว ควาย เหมือนกัน เนื่องจากคงทนถาวร เพราะยุคแรกคงจะใช้กระดาษบ้าง ผ้าบ้าง ใบไม้เปลือกไม้บ้าง ซึ่งไม่คงทนถาวรจึงคิดประดิษฐ์จากหนังสัตว์แทน ดังนั้นอาจเรียกการละเล่นชนิดนี้ได้ว่า การแสดงที่ทำจากหนังสัตว์เป็นหุ่นเชิดบังแสงให้เกิดเงา และตัวหนังจะทาสีดำเหมือนกันหมดเพราะให้เงาคมชัดดี แต่รูปแบบตังหนังตะลุงของแต่ละชนิดจะแตกต่างกันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน แม้จะเป็นตัวละครในเรื่องเดียวกัน เนื่องจากความแตกต่างในรสนิยม รูปแบบทางศิลปะ และคติความเชื่อ คือ หนังตะลุงของชวามีบุคลิกสะดุดตาที่สุดโดยจะทำรูปคล้ายการ์ตูนในเรื่องป๊อปอาย รูปหนังจะทำเป็นตัวผอมสูง ผมหยิกคอและไหล่ยาวผิดธรรมชาติ แข้งขาเล็กยาวเก้งก้างผิดปกติ เป็นอย่างกระดูกเคลื่อนที่ แต่มีเครื่องอาภรณ์ตกแต่งอลังการสวยงามเป็นพิเศษ โดยเฉพาะศรีษะจะเน้นการตกแต่งและเครื่องประดับ เช่น ชฎามงกฎ ท้ายยาวงอน โค้งอย่างเขาควาย จมูกโด่งยาวสวยงามมากจึงทำให้ส่วนศรีษะโตใหญ่
       หนังตะลุงของมาเลเซีย มีลักษณะคล้ายของจริงมากขึ้น คือ รูปเหมือนคน แต่งเครื่องทรงกษัตริย์อลังการไปทั้งตัว นุ่งผ้าลายปาเต๊ะรุ่มร่าม เหยียบอยู่บนตัวนาค มงกุฎใหญ่ดูไม่สมส่วน สนับปั้นเหน่งสองข้างสะโพกยาวงอนโค้งไปด้านหลังรูปหน้าผมจะขมุ่นเป็นมวยยาวงอนโค้งไปด้านหลังคล้ายกับของชวา เป็นต้น กล่าวโดยรวมหนังตะลุงมลายูลักษณะใกล้เคียงกับของไทย
       แหล่งกำเนิดหนังตะลุงมักจะถกเถียงกัน เนื่องจากต่างฝ่ายก็อ้ายว่ากำเนิดจากบ้านเมืองประเทศของตนก่อนเสมอ เพื่อว่าบ้านเมืองของตนจะได้ชื่อว่ามีอารยะธรรมความเจริญเก่าแก่กว่าใคร เป็นเรื่องภูมิภาคนิยมหรือชาตินิยมไป ซึ่งโดยความเป็นจริงเมื่อชาวอินเดียนำมาเผยแพร่ ก็ต้องเข้าใจว่าอินเดียมีหลายพวก ต่างคนต่างก็นำวัฒนธรรมไปเผยแพร่เหมือนกัน ทุกเมืองจึงได้รับเหมือนกัน ต่างแต่ว่าเมืองใดจะนิยมแพร่หลายมีบทบาทชี้นำมากกว่ากันเทานั้น ผู้ใดอาจไม่เจริญรุ่งเรื่องเท่ากับผู้รับก็ได้ และด้วยเหตุนี้เองรูปร่างตัวหนังตะลุงแต่ละประเทศจึงไม่เหมือนกันเลย แม้จะนิยมเล่นเรื่องราวรามเกียรติ์เรื่องมหาภารตยุทธ์เหมือนกัน ได้มาจากครูเดียวกันต้นทางเดียวกันแท้ๆ ทั้งนี้เพราะพื้นเพของรสนิยมความงาม พื้นฐานทางวัฒนธรรมศาสนาและความเชื่อในพื้นถิ่นดั้งเดิมแตกต่างกัน ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าหนังตะลุง คือ เอกลักษณ์เฉพาะทางศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงและกว้างขวางที่สุด ของชนชาติในคาบสมุทรทะเลใต้ทั้งมวล
       ในภาคใต้ของไทยมีตำนานว่า หนังตะลุงเกิดขึ้นที่เมืองพัทลุงโบราณ (กรุงสทิงพาราณสี) เช่นเดียวกับละครมโนราห์ ซึ่งน่าจะเป็นจริงมิใช่เลื่อนลอย เพราะดินแดนโดยรอบลุ่มทะเลสาบสงขลาพัทลุง เคยเป็นที่ตั้งเมืองโบราณเก่าแก่ มีพื้นฐานเป็นบ้านเมืองมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 5-6 แล้ว รุ่นเดียวกับเมืองนครศรีธรรมราช เพราะเป็นที่ราบแหล่งเพาะปลูกทำนาทำเกษตรกรรมที่ใหญ่โต กว้างขวางสมบูรณ์ยิ่งแห่งหนึ่งบนแหลมมลายู จึงมีคนอพยพมาตั้งชุมชนตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อราว 4000 ปีมาแล้ว และกลุ่มชนเหล่านี้เองได้พัฒนาขึ้นเป็นชุมชนเมือง มีความเจริญยิ่งขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 9-14 เมื่อชาวอินเดียเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายและรับวัฒนธรรมอินเดียนับยุคแรก
        อาจกล่าวได้ว่าดินแดนโดยรอบทะเลสาบสงขลาพัทลุง คือ อู่อารยะธรรมที่เก่าแกที่สุดแห่งหนึ่งบนคาบสมุทรมลายู การสั่งสมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ หลักฐานทางโบราณคดีทุกยุคทุกสมัย จึงปรากฏกองทับถมจมอยู่โดยรอบแอ่งน้ำธรรมชาติอันยิ่งใหญ่แห่งนี้ เนื่องจากทำเลภูมิประเทศและทรัพยากรธรรมชาติเอื้ออำนวย ศิลปะการแสดงเป็นความบันเทิงรื่นเริงใจอันสุนทรีย์ของมนุษย์ เป็นเครื่องนันทนาการสำหรับชุมชนเมืองที่เจริญมั่งคงแล้วเท่านั้น
        ไทยเราเรียกการเล่นหนังแตกต่างกันเป็น 2 อย่าง คือ หนังตะลุง กับ หนังใหญ่ เนื่องจากหนังใหญ่เกิดภายหลัง โดยเลียนแบบหนังตะลุงและการเล่นโขนผสมกัน และเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนจึงเรียกหนังชนิดหลังว่า “หนังใหญ่” ตามรูปร่างซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า
        หนังตะลุงโบราณจะเป็นสีดำ ทำยืนบนตัวพญานาค ต่อมาหลังตัวพญานาคหายไปและทำเป็นตัวหนังระบายสีธรรมชาติ เหมือนการแต่งกายของคนจริง ยกเว้น “รูปกาก” คือ พวกตัวตลก เช่น เท่ง ทอง แก้ว หนูนุ้ย เมือง สะหม้อ บองหลา เจ็กจ้ง ฯลฯ ยังคงทำสีดำเหมือนเดิม และพูดภาษาพื้นเมืองปักษ์ใต้ ส่วนหนังตัวอื่น คือ รูปเชิด เช่น พระ นาง ยักษ์ กษัตริย์ เทวดา บทพากษ์เจรจาใช้ภาษากลาง เรียกภาษาสิแนหรือแหลงข้าหลวง คือ ภาษาเจ้านาย
เครื่องดนตรีบรรเลง มี

  1. กลองตุ๊ก
  2. ฆ้องคู่
  3. โหม่ง
  4. ซอด้วง หรือ ปี่
  5. ทับ (โทน)
  6. ฉิ่ง การให้แสงสว่างยุคโบราณใช้คบเพลิงหรือดุ้นใต้ ยุคต่อมาใช้ตะเกียงเจ้าพายุ ปัจจุบันใช้หลอดไฟฟ้าและมีเครื่องขยายเสียงช่วยทำให้สะดวกทุ่นแรงได้มากไม่ต้องร้องพากษ์ ตะเบ็งเสียง

       เรื่องที่ใช้เสียง โบราณเล่นเรื่องรามเกียรติ์เป็นหลัก ต่อมานิยมนิทานเรื่องจักรๆวงศ์ๆ ยุคหลังนิยมเรื่องนิยายสมัยใหม่อย่างละครวิทยุ และมีการเมืองแทรกบ้างอย่างทันสมัย เครื่องดนตรีก็เป็นเครื่องสากลวงสตริง หนังตะลุงจึงสามารถเข้าถึงจิตใจประชาชน เป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้ชมทุกวัยเสมอมาทุกยุคสมัยไม่เสื่อม แม้แต่พวกวัยรุ่น
        การพิจารณาว่าหนังตะลุงคณะใดจะดีมีชื่อเสียงหรือไม่ จะต้องมีคุณลักษณะแบบเสียงหวาน นิทานดี ดนตรีดี ฟังเพราะ หัวเราะครืน ดังนั้น ทางราชการจึงนิยมใช้หนังตะลุงประชาสัมพันธ์เรื่องต่างๆ เนื่องจากทางราชการอบรมชาวบ้าน 10 ครั้ง ไม่เท่ากับหนังตะลุงเล่นให้ดูครั้งเดียว
        หนังตะลุงเล่นได้เกือบทุกงาน เช่น บวชนาค แต่งงาน เทศกาล งานศพ งานฉลอง งานรัฐพิธี ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ใช้ตัวแสดงน้อย นอกจากนายหนัง แล้ว ก็มีแต่นักดนตรีเท่านั้น








ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บุคคลสำคัญในวงการนาฏศิลป์

เครื่องหมาย และสัญลักษณ์ในดนตรีสากล

วิวัฒนาการของดนตรีไทยในแต่ละยุคสมัย (สมัยรัตนโกสินธ์)