หลักการประเมินคุณภาพของการแสดงนาฏศิลป์และละคร

      1. คุณภาพด้านการแสดง

          คุณภาพของการแสดงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก  ในการผลิตผลงานด้านศิลปะการแสดงออกสู่สายตาประชาชน  นอกจากประชาชนจะติชม วิพากษ์  วิจารณ์  ผลงานแล้ว ผู้สร้าง ผู้ร่วมงานและผู้ชมควรมีส่วนร่วมในการประเมินผลงานเพื่อเป้นการตรวจสอบความถูกต้อง  ชัดเจน   ในด้านเนื้อหาสาระด้วย

       การประเมินคุณภาพของการแสดง เป็นการประเมินสิ่งที่สะท้อนความคิดในเรื่องต่างๆของผู้นำเสนอผลงานการแสดง  เพื่อเป็นการตัดสินว่าคุณภาพของการแสดงมีมาตรฐานในระดับใด สมควรแก่การยกย่องหรือไม่

      หลักเกณฑ์ที่ควรนำมาใช้ในการประเมินคุณภาพของการแสดง ประกอบด้วย

      1. การนำเสนอการแสดงต้องชัดเจนในเรื่องประเภท  กล่าวคือ ชนิดของการแสดงเป็นแนวอนุรักษ์ หรือสร้างสรรค์

     2.นักแสดงมีเอกลักษณ์ในการเคลื่อนไหวร่างกาย  มีการจัดระเบียบของร่างกาย จัดกระบวนท่าทาง  ถูกต้องตามแบบแผนของการแสดงชุดที่นำเสนอมากน้อยเพียงใด

     3. ลักษณะการแสดงมีความงาม ทั้งในระดับพื้นฐาน และมาตรฐาน

        - ความงามระดับพื้นฐาน  ได้แก่  ความประณีตบรรจุ  ความเป็นระเบียบ  เรียบร้อย ความถูกต้องชัดเจน ผสมกลมกลืนกันอย่างเหมาะสม

       - ความงามระดับมาตรฐาน  เป็นความงามในระดับวิชาชีพที่ได้รับการศึกษาทั้งในภาคทฤษฎี และภาค ปฏิบัติ  คือ ความสมดุล ความกลมกลืน ความได้สัดส่วน ความเป็นเอกภาพ  จังหวะ และการเคลื่อนไหวร่างกายมีความถูกต้องชัดเจน

    4. ผลงานควรมีประโยชน์ ให้คุณค่าต่อสังคม  ทั้งในด้านสติปัญญา  อารมณ์ และจิตใจ

       - ด้านสติปัญญา การแสดงที่ดีมีคุณภาพนอกจากให้ความบันเทิงแล้ว  ควรมีแง่คิดเพื่อก่อให้เกิดคุณค่า  ทางด้านสติปัญญา  มีสาระ  สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตจริง  และวิเคราะห์ปัญหา ของสังคมโดยรวมได้

       - ด้านอารมณ์  การแสดงควรมีจุดมุ่งหมาย  เพื่อให้ความบันเทิง  เพื่อผ่อนคลายความเครียดของอารมณ์  เป็นการเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันที่น่าเบื่อหน่าย  ทำให้ผู้ชมมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น  และมีความตื่นตัวในการดำเนินชีวิต

      - ด้านจิตใจ  การแสดงควรมีคุณภาพในด้านที่ช่วยจรรโลงจิตใจหรือช่วยยกระดับ พัฒนาจิตใจของผู้ชม ให้สูงขึ้น  กล่าวคือ  ช่วยทำให้ผู้ชมได้รับแง่คิด  เกิดมุมมองใหม่  เกิดความรู้สึก อยากกระทำในสิ่งที่ดีงามตามข้อคิดที่นำเสนอผ่านการแสดงนั้นๆ

       2. คุณภาพด้านองค์ประกอบการแสดง

          คุณภาพด้านองค์ประกอบของการแสดง  ประเมินจากสิ่งต่อไปนี้

        1. เครื่องประกอบการแสดงบนเวที  (Prop Crew)  เช่น อุปกรณ์ประกอบฉาก  และอุปกรณ์ประกอบการแสดง  เครื่องใช้ส่วนตัว  เครื่องประดับถูกต้องตามแบบแผน  ตามยุคสมัย

        2. ระบบเสียง และอุปกรณ์เสียง (Sound Crew) ระบบเสียงชัดเจน  ไม่มีเสียงสะท้อน หรือเสียงก้องเกิดขึ้นขณะมีการแสดง

       3. เครื่องแต่งกาย  การแต่งหน้า  (Costume and Make up) ถูกต้องตามยุคสมัย การให้สีไม่ฉูดฉาด  ผสมกลมกลืนกับฉาก  ไฟ  เครื่องแต่งกายสมฐานะและบทบาทของตัวละครแต่ละตัว

      4. คุณภาพด้านองค์ประกอบของการแสดง  สะท้อนให้เห็นความสามารถของผู้จัดการแสดงว่า  มีความรู้ในเรื่องของศิลปะเป็นอย่างดี  ไม่ว่าจะเป็นงานด้านฝีมือ  งานด้านเทคนิคและอื่นๆ ผสมกลมกลืนกันเป็นอย่างดี  ทำให้งานแสดงมีคุณภาพ

    3. หลักการประเมินการแสดงนาฏศิลป์

      นาฏศิลป์เป็นศิลปะการแสดงแขนงหนึ่งที่ใช้การเคลื่อนไหวและการจัดระเบียบร่างกายของมนุษย์อย่างมีจังหวะ  ลีลา  ทำให้เกิดภาษาท่าทางที่สามรถสื่อความหมายแทนภาษาพูด  การแสดงนาฏศิลป์ทุกชาติมีจุดกำเนิดมาจากแรงบันดาลใจในการจัดการแสดงเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตามความเชื่อของแต่ละชาติแต่ละท้องถิ่น   มีทั้งนาฏศิลป์ระดับพื้นบ้าน และระดับมาตรฐาน

        การประเมินการแสดงนาฏศิลป์นั้น  ประเมินจากองค์ประกอบของการแสดงนาฏศิลป์ ดังนี้

      1. ลีลาในการเคลื่อนไหวถูกต้องตามแบบแผน

        - นำหลักแห่งความสมดุลมาใช้ในงานนาฏศิลป์  โดยใช้เวทีเป็นจุดศูนย์กลางตำแหน่งของผู้แสดงควรจะอยู่แต่ละซีกของเวที  ให้มีสัดส่วนจำนวนเท่ากัน ไม่ควรไปรวมกลุ่มอยู่ด้านใดด้านหนึ่งจนมาก

        - มีการเคลื่อนไหว  การแปรถวมีความหลากหลายไม่น่าเบื่อ  เช่น การรวมกันเป็นวงกลม  การเข้าหาผู้ชม  การถอยห่าง  การตั้งแถวทแยงมุม   ตั้งแถวหน้ากระดาน  การฉวัดเฉวียน  สลับฟันปลา  ยกสูง  การกดต่ำ  การจัดระดับสรีระ  เช่น ท่าสูง  ท่าต่ำ  นั่งคุกเข่า  การตั้งซุ้ม  การจัดกลุ่มของนักแสดง เป็นต้น

     2. ดนตรี  การขับร้อง  ท่วงทำนอง  จังหวะของเพลง  เครื่องแต่งกาย  และลีลาในการเคลื่อนไหวต้องมีความสอดคล้องสัมพันธ์กัน

     4. หลักการประเมินการแสดงละคร 

        หลักการประเมินการแสดงละคร  มีดังนี้

        1. เนื้อเรื่องของละครมีคุณค่าสมควรแก่การติดตามชมหรือไม่

        2. ผู้แสดงละคร  แสดงได้สมบทบาทหรือไม่

        3. แนวคิดของเรื่องมีคุณประโยชน์แก่ผู้ชมอย่างไรบ้าง

        4. องค์ประกอบต่างๆ เช่น  เครื่องแต่งกาย  ฉาก แสง  สี  เสียง ช่วยสร้างบรรยากาศให้ผู้ชมเกิดอารมณ์คล้อยตามได้มากหรือน้อยเพียงใด

         

     


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บุคคลสำคัญในวงการนาฏศิลป์

เครื่องหมาย และสัญลักษณ์ในดนตรีสากล

วิวัฒนาการของดนตรีไทยในแต่ละยุคสมัย (สมัยรัตนโกสินธ์)