หลักการวิจารณ์การแสดงนาฏศิลป์และละคร

   การวิจารณ์   เป็นเรื่องของการใช้ภาษาในการสื่อสารถึงความคิด  วิเคราะห์  วิพากษ์  วิจารณ์  ต่อสิ่งที่ได้ดู ได้ฟัง  เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ชมการแสดงได้แสดงความคิดเห็นต่อการแสดงที่ได้ชม  ซึ่งผู้วิจารณ์ควรมีหลักเกณฑ์ในการวิจารณ์การแสดงอย่างเป็นระบบ  สามารถแยกแยะและประเมินคุณค่าตามชนิดและประเภทของการแสดงด้วยความเป็นธรรม  รู้จักวิพากษ์  วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้ผู้สร้างงานสามารถผลิตผลงานการแสดงใหม่ๆ  ออกมาได้อย่างมีคุณภาพ  และเกิดแนวคิดที่จะปรับปรุงพัฒนา   สร้างสรรค์งานที่มีคุณค่าได้มาตรฐาน

    1. คุณสมบัติของผู้วิจารณ์

        ผู้วิจารณ์งานศิลปะที่ดีจะต้องเป็นผู้มีความศรัทธา มีความรักในศิลปะแขนงนี้  มีความเข้าใจ มีความซาบซึ้ง เข้าถึงศิลปะอย่างแท้จริง สามารถสื่อสารด้วยการใช้ถ้อยคำที่คมคาย  สามารถเปรียบเทียบ  วิเคราะห์  วิจารณ์  นำเสนอข้อดีและข้อเสียของการแสดงอย่างเป็นธรรม  ปราศจากอคติใดๆ ทั้งสิ้น  โดยผู้วิจารณ์ควรมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

     1. มีความรู้เป็นอย่างดีในศิลปะการแสดงสาขาที่วิจารณ์  ผู้วิจารณ์จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับลักษณะ  ประเภท และรูปแบบในการแสดงแต่ละประเภทเป็นอย่างดี  และมีความสารถในการเชื่อมโยงความรู้ในศาสตร์สาขาต่างๆ ที่หลอมรวมเป็นองค์ประกอบของงานที่วิจารณ์

    2. มีประสบการณ์เกี่ยวกับงานศิลปะทุกแขนง  ผู้วิจารณ์ที่ดีจะต้องมีความสนใจกระตือรือร้นที่จะแสวงหาความรู้  ติดตามกระแสความเคลื่อนไหวของศิลปะทุกแขนง  ไม่ใช่สนใจเฉพาะสาขาที่ตนมีความรู้เท่านั้น  ผู้วิจารณ์จึงต้องเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล

    3. มีการซึมซับรับรู้ศิลปะทางนาฏศิลป์  เป็นนักดู นักชม สั่งสมประสบการณ์มาพอสมควร และถ้าสามารถเพิ่มพูนประสบการณ์ได้โดยเข้าไปมีส่วนร่วมในการวิจารณ์งานแสดงต่างๆก็จะช่วยพัฒนาทักษะความคิดและการมองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

   4. มีความสามารถในการสื่อสาร  ผู้วิจารณ์จะต้องมีความรอบรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของศิลปะการแสดงในอดีต  โดยนำความรู้ประสบการณ์ทางด้านการแสดงมาบูรณาการกับศิลป์วิจารณ์และประวัติศาสตร์ศิลป์ เพื่อสร้างศักยภาพในการเข้าถึงปรัชญาทางศิลปะ  เพราะการเรียนรู้ศิลปะในอดีตจะทำให้ทราบถึงภูมิปัญญาของปรมาจารย์  เทคนิค กลวิธี และแบบอย่างศิลปะ  ซึ่งจะช่วยสร้างทักษะในการวิเคราะห์  วิจารณ์ ฝึกให้เป็นผู้ที่มีประสาทสัมผัสในเชิงวิเคราะห์  มีความคิดฉับไว มีสติปัญญาในการตัดสิน ประเมินค่าทางด้านสุนทรียะของผลงานการแสดง  ซึ่งบุคคลที่มีความรอบรู้ในศิลปะการแสดงเป็นอย่างดี  ย่อมจะสื่อสาร  ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด แยกแยะข้อดีและข้อเสีย อธิบายเหตุผลให้ผู้อื่นเข้าใจได้ชัดเจนกว่าผู้ที่ไม่มีความรู้ในด้านนี้อย่างลึกซึ้ง

      2. หลักการวิจารณ์การแสดงนาฏศิลป์และละคร

       1) หลักการวิจารณ์การแสดงนาฏศิลป์  การวิจารณ์ผลงานการแสดงนาฏศิลป์ตามทฤษฎีการวิจารณ์อย่างสุนทรีของลาล์ฟ สมิธ (Ralph  Smith)  ได้บูรณาการระหว่างสุนทรียศาสตร์และศิลปวิจารณ์เข้าด้วยกัน โดยมีขั้นตอนดังนี้

           1.1)  การบรรยาย  เป็นการพูดหรือเขียนถึงการรับรู้สิ่งที่เห็นและรู้สึก  รวมทั้งการรับรู้คุณสมบัติต่างๆ ของการแสดง  ซึ่งผู้วิจารณ์สามารถบรรยายหรือแจกแจงส่วนประกอบต่างๆ ทั้งในลักษณะที่เชื่อมโยงหลักเกณฑ์ศิลปะสาขาต่างๆ เข้าด้วยกัน หรือแยกเป็นส่วนๆก็ได้

          1.2)  การวิเคราะห์ขององค์ประกอบต่างๆ ในผลงานการแสดงนาฏศิลป์ไทย  ได้แก่

                (1) รูปแบบของนาฏศิลป์ไทย (Form and Shape) มีหลายรูปแบบจึงต้องศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ทั้งที่เป็นนาฏศิลป์แบบมาตรฐาน และนาฏศิลป์พื้นบ้าน  ระบำ  รำ ฟ้อน ละคร  โขน  หรือลักษณะการแสดง   รำเดี่ยว  รำคู่ รำหมู่  เป็นต้น

                (2) ความเป็นเอกภาพ (Unity) ของนาฏศิลป์ไทย การแสดงนาฏศิลป์ชุดหนึ่งๆนั้น ผู้แสดงจะต้องมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  เช่น การแสดงละครรำ  ผู้แสดงทุกคนต้องมีลีลาในการร่ายรำให้เหมาะสมกับการแสดงแต่ละประเภท  เช่น ละครชาตรี  ผู้แสดงทุกคนจะต้องรำแบบละครชาตรี  หากเป็นการแสดงแบบละครใน  ผู้แสดงทุกคนต้องรำแบบละครใน  หากเป็นการแสดงระบำหรือฟ้อน  ทุกคนต้องมีลีลาท่ารำแบบระบำ หรือฟ้อน เหมือนกันเป็นหนึ่งเดียว เป็นต้น

               (3) ความงดงามของการร่ายรำ  และองค์ประกอบอื่นๆ ได้แก่ ความถูกต้องตามแบบแผนท่ารำ  แม่ท่า  ลีลาท่าเชื่อม  ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการประดิษฐ์ท่ารำ  ความสามารถในการรำ  ฝีมือในการรำ  รำดี  รำงาม  มีความอ่อนช้อย  คล่องแคล่ว  สง่างาม  มีลักษณะพิเศษในท่วงท่าลีลา และมีเทคนิคเฉพาะตัวผู้รำ

         2)  หลักการวิจารณ์การแสดงละคร    หลักเกณฑ์ในการวิจารณ์ละครและมาตรฐานของละคร  ผู้วิจารณ์จะต้องเข้าใจว่า  สุนทรียะของละครนั้นเหมือนกับสุนทรียะของศิลปะประเภทอื่นๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับรสนิยมของผู้ชมแต่ละสมัยในการยอมรับว่าอะไรดีหรืองาม  สิ่งที่ผู้วิจารณ์ควรยึดถือเป็นแนวทางในการวิจารณ์ มีดังนี้

         2.1) โครงเรื่อง  (Plot) หมายถึง โครงสร้างของละครทั้งเรื่อง  แบ่งออกเป็น 3 ตอน คือ ตอนต้น  เป็นการปูพื้นให้ผู้ชมทราบเกี่ยวกับวัน  เวลา สถานที่  การกระทำของตัวละคร    ตอนกลางจะมีการสร้างอุปสรรค  ความขัดแย้ง  ทำให้ตัวละครเอกเกิดปัญหาจนถึงจุดวิกฤต  (Crises) และดำเนินต่อไปจนถึงขั้นแตกหัก (Climax) และค่อยๆ คลี่คลายปัญหาในตอนปลายของเรื่องซึ่งนำไปสู่การอวสาน

              การวิจารณ์โครงเรื่องมีข้อที่ควรพิจารณา  ดังนี้

              1. เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในละครชัดเจนหรือไม่

              2. เหตุการณ์ที่จะนำไปสู่จุดวิกฤตเข้มข้นเพียงพอหรือไม่  เร้าอารมณ์ผู้ชมได้มากน้อยเพียงใด

              3. การจบของเรื่องเหมาะสมหรือไม่  ถ้าไม่เหมาะสมควรจะจบอย่างไร

              4. ละครเรื่องนี้น่าสนใจชวนติดตามตลอดเรื่องหรือไม่

              5. สิ่งใดที่ทำให้เรื่องมีความน่าสนใจมากที่สุด เช่น โครงเรื่อง  ตัวละคร หรือบทบาทของตัวละคร

          2.2) ตัวละคร (Character) บทบาทตัวละคร (Role)  และการสร้างตัวละคร (Characterization)  ตัวละครเป็นผู้สร้างและดำเนินเหตุการณ์ไปตามโครงเรื่องโดยใช้บทเจรจา การกระทำและพฤติกรรมซึ่งสอดคล้องกับบุคลิกลักษณะของตัวละครแต่ละตัว  บทบาทของตัวละครจะต้องแสดงให้เหมาะสมกับลักษณะตัวละครนั้นๆ ได้แก่ บุคลิกลักษณะ  ฐานะความเป็นอยู้ทางสังคม  ภาษาที่ตัวละครพูด  กิริยามารยาท  ทัศนคติของตัวละครที่มีต่อตัวเอง  ผู้อื่น  และโลกภายนอก

                การวิจารณ์ตัวละครมีข้อที่ควรพิจารณา  ดังนี้

                1. การสร้างบุคลิกลักษณะของตัวละครมีชีวิตจิตใจคล้ายมนุษย์จริงหรือไม่

                2. ตัวละครสามารถดึงดูดให้ผู้ชมมีอารามณ์คล้อยตามได้มากน้อยเพียงใด

                3. ตัวละครแสดงได้สมบทบาทเพียงใด  ตีบทแตกหรือไม่

         2.3) แนวความคิดที่เป็นแก่นของเรื่อง  (Theme)  จุดประสงค์ในการวางแนวคิดของเรื่องก็เพื่อให้เนื้อเรื่องน่าสนใจ  แม้ว่าละครจะเป็นเพียงเรื่องสมมติขึ้น  แต่ส่วนใหญ่มีเค้ามาจากความจริง  ผู้ประพันธ์บทละครจะต้องมีแนวคิดว่าจะให้เรื่องดำเนินไปสู่จุดหมายได้อย่างไร  แนวคิดของละครมีหลายแนว  เช่น เพื่อความบันเทิง  สะท้อนปัญหาชีวิต  ปัญหาสังคม เป็นต้น

                 ข้อที่ควรนำมาพิจารณาในการวิจารณ์ มีดังนี้

               1. ดูละครแล้วได้ประสบการณ์  แนวคิด  ปรัชญาอะไรบ้าง

               2. เห็นด้วยกับปรัชญา  แนวคิดของเรื่องหรือไม่

               3. แนวคิดที่ได้จากการชมละครเกิดขึ้นในชีวิตจริงได้หรือไม่ 

               4. บทเจรจาของตัวละคร  มีคติ คำคมที่น่าจดจำบ้างหรือไม่ 

               5. เนื้อเรื่อง  ฉาก  ตัวละครมีความเหมาะสมสอดคล้องกันหรือไม่

          2.4)  ภาพที่เห็น  (Spectacle)  หมายถึง  ฉาก  การแสดง  และทัศนองค์ประกอบต่างๆ ต้องสอดคล้องกับตัวละคร  สร้างบรรยากาศที่เหมาะสม  สร้างอารมณ์ที่สอดคล้องและเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล  ช่วยเสริมให้การดำเนินเรื่องน่าสนใจและการแสดงบทบาทของตัวละครมีความสมจริง  ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงทัศนองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งหมายรวมถึงสิ่งที่ผู้ชมรับรู้ได้ด้วยสายตา อันได้แก่ นาฏการของผู้แสดง (Movement or Action ) ฉาก และอุปกรณ์ประกอบฉาก  (Scene and Pops) เครื่องแต่งกาย และการแต่งหน้า  (Custume and Make up)  แสงสี (Lighting) และเทคนิคพิเศษ (Special Effect) 

                    ข้อที่ควรพิจารณาในการวิจารณ์ มีดังนี้

                   1. ทัศนองค์ประกอบต่างๆ  สอดคล้องกับตัวละคร  สร้างอารมณ์  สร้างบรรยากาศได้สมเหตุสม                      ผลหรือไม่

                    2. ฉาก อุปกรณ์ประกอบฉาก  เครื่องแต่งกาย   และการแต่งหน้า  ถูกต้องตามเนื้อเรื่องและ                            เหมาะสมกับยุคสมัยหรือไม่

                    3. ฉาก และทัศนองค์ประกอบช่วยให้การแสดงละครสื่อความหมายได้สมจริงหรือไม่  การ                            แสดงตื่นเต้น  มีชีวิตชีวา  ชวนให้ติดตามโดยตลอดหรือน่าเบื่อหน่าย

                    4. ตัวละครตีบทแตกหรือไม่  ตัวละครแสดงได้เป็นธรรมชาติจากความรู้สึกภายใน  หรือ                                เป็นการกระทำที่จงใจเสแสร้งแกล้งทำ

                    5. ผู้แสดงสามารถทำให้ผู้ชมละครเกิดความรู้สึกสะเทืออารมณ์ได้ตามความมุ่งหมายของบท                        ละครหรือไม่

          ผู้วิจารณ์ละครที่ดี  นอกจากจะมีความรู้อย่างลึกซึ้งในรูปแบบการแสดงแต่ละประเภทเข้าใจองค์ประกอบต่างๆ  อันเป็นพื้นฐานในการวิจารณ์ที่ถูกต้อง  สมเหตุสมผลแล้ว  ควรจะมีความสามารถในการเชื่อมโยงความรู้ศาสตร์สาขาต่างๆ  ที่หลอมรวมเป็นองค์ประกอบของผลงานการละครเป็นอย่างดีด้วย


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บุคคลสำคัญในวงการนาฏศิลป์

เครื่องหมาย และสัญลักษณ์ในดนตรีสากล

วิวัฒนาการของดนตรีไทยในแต่ละยุคสมัย (สมัยรัตนโกสินธ์)